ผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในรัฐจอร์เจีย ทำให้สภาสูงมีเสียง 50-50 ซึ่งจะทำให้พรรคเดโมแครตคุมเสียงในสภานี้ได้ สืบเนื่องจากอำนาจชี้ขาด (tiebreaking vote) ของรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ในกรณีมีเสียงเท่ากัน มีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า วุฒิสภาที่นำโดย พรรคเดโมแครต จะออกมาตรการกระตุ้นมากขึ้นในอนาคต เมื่ออิงข้อมูลจาก KBANK คาดการณ์ว่า ผลการเลือกตั้งดังกล่าว จะทำให้ไบเดนอาจออกมาตรการทางการคลังครั้งใหญ่ออกมา เช่น มาตรการกระตุ้นโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุข รวมถึงนโยบายพลังงานสีเขียวต่างๆ ซึ่งจะต้องปรับเพิ่มภาษีมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว เราเชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างบรรยากาศที่เปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้นทั่วโลก
จากผลดังกล่าว เราจึงคาดว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลงจากประเด็นการขาดดุลแฝด (twin deficit หรือ ขาดดุลการค้าและการคลังในเวลาเดียวกัน)ในสหรัฐฯ สถานการณ์เช่นนี้จะบีบให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ สืบเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนลงและการปรับเพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคลในสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อนำเงินมาอุดสภาวะขาดดุลดังกล่าว นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ก็อาจไปกระตุ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีค่าสหสัมพันธ์ติดลบกับเงินดอลลาร์ฯ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทยมีสถานะที่จะได้ประโยชน์จากพัฒนาการดังกล่าวสืบเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น
เราเชื่อว่าการลงทุนในโครง สร้างพื้นฐานด้วยมูลค่าขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นมากและนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นโดยกลุ่มที่คาดว่า จะได้ประโยชน์คือ 1) กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (พลังงาน ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และขนส่ง) ด้วยแรงหนุนจากเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงและอุปสงค์ที่สูงขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ 2)กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่คาดว่า จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจและการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) 3)กลุ่มประกัน เพราะคาดว่า bond yield ที่สูงขึ้นจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากขึ้นและสามารถตั้งสำรองน้อยลงได้ และ 4) กลุ่มพลังงานทดแทน เพราะคาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงานสีเขียวของไบเดน
สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบคือ 1.กลุ่มการเงินจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 2. กลุ่มโรงไฟฟ้า กองทุนอสังหาริมทรัพย์และกอง REITs จาก bond yield ที่สูงขึ้น 3. กลุ่มที่มีกิจการในสหรัฐฯ เช่น IVL เพราะมีสัดส่วนกำไรมาจากสหรัฐฯ 30% และ 4. กลุ่มบริษัทที่ไม่สามารถส่งต่อภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปยังกลุ่มลูกค้าได้ ทั้งนี้ bond yield ระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 8bps เมื่อวานนี้ (6 ม.ค. 2564) และผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1% แล้ว ซึ่งเราคาดว่า bond yield ระยะ 10 ปีของไทยจะมีเคลื่อนตัวตามทิศทางดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ bond yield ที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับกลุ่มธนาคาร/ประกัน และทำให้กลุ่มปันผลที่มั่นคงมีความน่าดึงดูดน้อยลง
เรายังคงมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย ด้วยเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนที่ 1,510 จากคาดการณ์ว่าจะมีการจัดจำหน่ายวัคซีนต้านโควิด-19 กันอย่างแพร่หลายและทำให้ไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศได้ในปี 2564 รวมถึงกระแสเงินทุนไหลเข้าจากทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงหลังจากมีกระแส blue wave จากผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในสหรัฐฯ เราคาดว่า Fed จะไม่อ่อนไหวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งอาจสูงเกินเป้าหมายที่ 2% ซึ่งจะสนับสนุนตลาดหุ้นจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ เราแนะนำให้นักลงทุนเน้นธีมการกลับมาของเงินเฟ้อ (reflation) โดยหุ้นเด่นของเราสำหรับปี 2564 (BAM BLA GPSC KTB PSL และ PTTGC) ต่างมีสถานะที่จะได้ประโยชน์จากธีมเหล่านี้
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟองสบู่บิตคอยน์จะยังไม่แตกและไม่ลงไปต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อนาคตศาสตร์ แนวทางฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม