3แบงก์ใหญ่ตั้งการ์ดสำรองสูง กดดันกำไรปี2563 “กรุงเทพมี 17,181ล้านบาทหลังตั้งสำรองผลขาดทุน 31,196 ล้านบาท -กรุงไทย ตั้งสำรองผลขาดทุนเพิ่ม 88.6% ฉุดกำไรสุทธิเหลือ ลดลง 42.9%-ไทยพาณิชย์กำไรสุทธิ 27,218ล้านบาทลดลง 33% หลังสำรองฯ 46,649ล้านบาทเพิ่มขึ้น 29%
ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หดตัวทั่วโลกจากผลกระทบของโควิด-19 รอบใหม่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงยึดมั่นการดำเนินธุรกิจบนความระมัดระวัง ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืนและเตรียมรองรับการดำเนินธุรกิจตามบริบทใหม่ (New Normal) โดยธนาคารกรุงเทพตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 31,196 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่181.6%เป็นการเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีจำนวน 17,181ล้านบาท ลดลง 52.02%จาก 35,816ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้กำไรสุทธิดังกล่าวมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 8.4%จากปี 2562มาอยู่ที่77,047ล้านบาท เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.25% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงสาเหตุหลักจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและรายได้จากเงินลงทุนจากการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 20.0%หลัก ๆ จากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 55.6%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,363,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น14.7% จากสิ้นปี 2562หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.7%ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.9%โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 31ธันวาคม2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,810,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6%จากสิ้นปี 2562หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 7.3%ส่วนใหญ่จาก
เงินรับฝากออมทรัพย์สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่84.1% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1ที่เป็น
ส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่18.3% 15.7% และ 14.9% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9)มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลังการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน
การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปี 2563 เท่ากับ 68,783ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับปี2562 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษที่เพิ่มขึ้นสินเชื่อที่เติบโตดี 12% ซึ่งธนาคารขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และต้นทุนทางการเงินที่ลดลงช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงมากถึง 14.4% ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.7%ลดลงจาก 49.7% ในปี 2562
ธนาคารและบริษัทย่อยทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูง จำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.6% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ในปี 2562 โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff ซึ่งธนาคารได้เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 147.3%จาก 131.8% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 3.81%ลดลงจาก 4.33% ณ 31 ธันวาคม 2562
จากผลประกอบการดังกล่าวและการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,732ล้านบาท ลดลง 42.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 14,634ล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงเล็กน้อยประกอบกับการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทำให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง แม้ว่าธนาคารได้บริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 16.1%จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในไตรมาส4/2563ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 9,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.8% ตามหลักการพิจารณาอย่างรอบคอบส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 3,453ล้านบาท ลดลง 53.7%จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562
ณ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,197,674ล้านบาท เติบโต 12% จากสิ้นปี 2562 โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 15.35%และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ระดับ 18.76%ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศผลกำไรสุทธิประจำปี 2563 จำนวน 27,218ล้านบาทลดลง 33%จากปีก่อนเป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 80,437ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน(ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน)ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ
ในปี 2563รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 96,899ล้านบาท ลดลง3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 7% จากปีก่อนจากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่และการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับลูกค้าธุรกิจ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 47,869ล้านบาท เพิ่มขึ้น12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปี2562)โดยรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมิถุนายน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 64,330ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อนเป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นเป็น44%เปรียบเทียบกับ49% ในปีก่อน(หากไม่รวมรายการพิเศษครั้งเดียวในปี 2562)
ในปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 46,649ล้านบาทเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นปี2563 อยู่ที่ 3.68% เพิ่มขึ้นจาก 3.41% ในปีก่อนส่วนใหญ่เป็นผลของการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 141%ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่18.2%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าแม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นแต่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่งและเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านรายซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือได้ทยอยออกจากโครงการทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงเป็นอย่างมากโดย ณ สิ้นปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคารสำหรับปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19รอบใหม่ในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ก็ตามดังนั้นธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ และธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ”