มาร์เก็ตแคป OR ขึ้นTOP10

18 ก.พ. 2564 | 22:00 น.

หุ้นน้องใหม่ OR ราคาพุ่งเหนือจอง เปิดซื้อขาย 2 วัน ดันมาร์เก็ตแคปเพิ่ม 185,760 ล้านบาท แตะ 394,740 ล้านบาท ขึ้นสู่อันดับ 9 โบรกแนะจับตาซื้อขายท่วมท้น เสี่ยงติด Cash Balance

เป็นกระแสตั้งแต่ยังไม่เริ่มเข้าซื้อขาย สำหรับหุ้น บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ที่นักลงทุนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะเป็นเจ้าของ จากการเล็งเห็นถึงความเติบโตของธุรกิจ การเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และราคาเสนอขายหุ้นแห่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่หุ้นละ 18.00 บาท ด้วยวิธี Small Lot First โดยจะจัดสรรให้กับรายย่อยในรอบแรกจำนวน 300 หุ้นต่อราย ยิ่งทำให้การจองซื้อได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ซึ่งในวันแรกที่เปิดจองซื้อหุ้นกับ 3 ธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ถึงกับระบบล่มเลยทีเดียว

การเปิดรับจองหุ้น OR ต้องใช้เวลานานเกือบ 10 วัน ซึ่งหลังการปิดจองไปเมื่อเวลา 12.00 น.ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์พบว่า มีผู้จองซื้อรายย่อยแสดงความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก มีจำนวนรายการที่จองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ธนาคาร ทั้งช่องทางการจองซื้อที่สาขาและช่องทางออนไลน์รวมกว่า 530,000 รายการ เป็นการทำรายการจองซื้อหุ้นที่สูงที่สุด และผลการจัดสรรหุ้นพบว่า นักลงทุนที่จองซื้อผ่านตัวแทน จะได้ไม่เกินคนละ 4,400 หุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท หรือคิดเป็นเงิน 79,200 บาท และนักลงทุนบางรายอาจได้ 4,500 หุ้นจากการสุ่มรอบสุดท้าย คิดเป็นเงิน 81,000 บาท โดยนักลงทุนที่จองไม่ถึง 4,400 หุ้น จะได้รับหุ้นเต็มจำนวน ส่วนผู้ที่จองเกิน จะได้รับเงินส่วนต่างคืนเข้าในบัญชีภายใน 7-10 วันทำการ

มูลค่าการถือคีองหุ้นOR ของผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับ

 

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น OR เปิดซื้อขายวันแรกวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดที่ 26.50 บาท เพิ่มขึ้น 8.50 บาท หรือ 47.22% จากราคาไอพีโอที่หุ้นละ18.00 บาท จากนั้นราคาปิดวันแรกอยู่ที่ 29.25 บาท เพิ่มขึ้น 11.25 บาท หรือ 62.50% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 47,360.57 ล้านบาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 29.50 บาท เพิ่มขึ้น 11.50 บาท หรือ 63.88% ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 339,592.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,612,500,000 บาท จากมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ อยู่ที่ 208,980 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ซึ่งเป็นมาร์เก็ตแคปของไอพีโอใหม่ที่ปิดสูงที่สุด และมีอันดับสูงที่สุด 

ขณะที่การซื้อขายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ราคาเปิดที่ 30.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 5.12% ก่อนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปิดที่ 34.00 บาท เพิ่มขึ้น 4.75 บาท หรือ 16.24% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 38,868.81 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยระหว่างวันราคาปรับขึ้นไปสูงสุด 36.50 บาท เพิ่มขึ้น 7.25 บาท หรือ 24.78% และมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 394,740 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 9 รวม 2 วันที่เปิดการซื้อขายเพิ่มขึ้น 185,760 ล้านบาท ทั้งนี้ การซื้อขาย 2 วันแรก พบว่าราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 16.00 บาท หรือ 88.88% จากราคาไอพีโอที่ 18.00 บาท ส่วนมูลค่าการซื้อขายรวม 86,229.38 ล้านบาท และใน NVDR มีสถานะซื้อสุทธิ 1,769,350,737.70 บาท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการถือหุ้น OR พบว่า 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), Merrill Lynch (Singapore) Ple Ltd., กระทรวงการคลัง, สำนักงานประกันสังคม และ Morgan Stanley & Co. International Plc ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) อยู่ที่ 525,054 ราย หรือ 24.52% ซึ่งในการซื้อขายวันแรก นักลงทุนรายย่อยบางส่วนพบปัญหาหุ้นที่จองซื้อไม่เข้าบัญชีหุ้น โดยเฉพาะบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด ทำให้เกิดปัญหาซื้อขายไม่ได้ โดยในขณะนั้นราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นสูง จึงเสียประโยชน์ในส่วนนี้ไป

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หุ้น OR มีโอกาสได้รับความสนใจลดลง ส่วนหุ้นพลังงานตัวอื่นมีโอกาสได้รับความสนใจมากขึ้น โดยหลังจากหุ้น OR เข้าซื้อขาย 2 วัน ได้เข้าคำนวณทั้งดัชนี SET50-SET100 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 และดัชนี MSCI Global Standard แบบ Fast-track หนุนให้ราคาขยับขึ้นแรงกว่า 89% และมีปริมาณการซื้อขายสูงผิดปกติ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะติดมาตรการ Cash Balance

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจนํ้ามันของ OR ยังรักษาการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด และเป็นระดับการเติบโตที่ใกล้เคียงอดีตของตัวเอง แม้จะมีฐานธุรกิจใหญ่เป็นเบอร์ 1 แล้วก็ตาม จากการแย่งส่วนแบ่งตลาดรายเล็กต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจ Non-Oil ตลาดมีแนวโน้มโตสูงเฉลี่ย 6-10% ในช่วงปี 2564 – 2566 โดยเฉพาะด้านร้านกาแฟ Amazon มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 65% ของ Non-oil ที่จับการเติบโตได้ทั้งในและนอกสถานีบริการ ส่งให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 60% จากประมาณ 267 ล้านแก้ว ในปี 2564 มาที่ 424 ล้านแก้ว 

ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564