โลกการเงินอนาคต ธนาคารต้องพัฒนาแพลตฟอร์มรวม Cryptocurrency, E-money และ CBDC ไว้ด้วยกัน

01 มี.ค. 2564 | 19:00 น.

ทุกวันนี้ การโอนเงินผ่านสมาร์ทโฟนทำได้ง่ายมาก โดยเงินจริงๆ อยู่ที่ธนาคาร แต่ในอนาคตเงินจะอยู่ใน e-Wallet ซึ่งอาจจะมีอยู่ที่ธนาคารหรือไม่มีก็ได้ ภูมิทัศน์ด้านการเงินของโลกอนาคต จะทำให้ทุกคนเก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์ เงินคริปโต และ CBDC ไว้ในกระเป๋าใบเดียว นั่นแปลว่า ระบบการเงินต่างๆ จะต้องถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อกันทั้งระบบ

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่จะส่งทั้งเงินดิจิทัล (E-money) และ Cryptocurrency จากบัญชีธนาคาร โดยไม่มีขั้นตอนเพิ่มเติม แม้ว่าวันนี้มันยังไม่ส่งผลกระทบต่อการนำมาใช้จริงในวงกว้าง แต่หลังจากการออกสกุลเงินดิจิทัลระดับประเทศหรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ธนาคารจะถูก Disrupt อย่างรุนแรง ประเทศที่มีการพัฒนาระบบ e-Payment อย่างเต็มรูปแบบจะได้เปรียบ เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ Mobile Payment เร็วมาก นั่นจึงทำให้จีนสามารถพัฒนาดิจิทัลหยวนได้อย่างรวดเร็ว

CBDC จะทำงานอย่างไร ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือไม่ 

เงินหยวนดิจิทัลของจีนเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่ใช้งานได้จริง จีนเป็นประเทศแรกที่ส่งเสริมโครงการเงินหยวนดิจิทัลอย่างแข็งขันซึ่งเรียกว่า Digital Currency Electronic Payment หรือ DCEP จีนให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ ธนาคารในประเทศหลายแห่งได้พัฒนา หรือกำลังพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานกับ DCEP ซึ่งสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบรวมศูนย์ที่จัดการโดยธนาคารกลางแห่งประเทศจีน เทคโนโลยีนี้ช่วยให้สามารถควบคุมธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายทาง สังคมที่ชัดเจน เพิ่มการจัดเก็บภาษี และป้องกันอาชญากรรมทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และเพื่อเป็นการรองรับกับโลกการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว Visa ได้เปิดตัว โปรโตคอลสำหรับการทำธุรกรรมออฟไลน์ด้วยสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ในการชำระเงินหรือรับการชำระเงินแบบออฟไลน์ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ในกรณีนี้ CBDC ก็จะมาแทนที่เงินสด ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มจำนวนธุรกรรมที่ควบคุมโดยผู้ออกบัตรธนาคาร หรือตัวกลางทางการเงิน กรอบการทำงานหลายรูปแบบทางการเงินกำลังจะกลายเป็นข้อกำหนดสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ธนาคารจะต้องพัฒนาระบบที่ทำให้แน่ใจว่าผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรม Fiat, CBDC และ Crypto ได้ในแอปพลิเคชั่นเดียว 

ขณะเดียวกัน กระแสจากผลตอบแทนที่สูงของเงินคริปโตนับแต่ไตรมาส 3/2020 เป็นต้นมา ทำให้ผู้คนเข้าสู่ตลาดเงิน Crypto มากขึ้น จากข้อมูลของ Cambridge Center for Alternative Finance จำนวนผู้ใช้ Cryptocurrency เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 35 ล้านคนในปี 2018 เป็น 101 ล้านคนในไตรมาสที่ 3 ปี 2020 ผลการศึกษาของนักวิจัยจาก Financial Conduct Authority ในสหราชอาณาจักรชี้ว่าเพิ่มขึ้น 78% ตั้งแต่ปี 2019 จำนวนการทำธุรกรรมของ PayPal ก็เพิ่มขึ้นถึงกว่า 36% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 277 พันล้านดอลลาร์ หลังการประกาศรองรับ Cryptocurrency นับเป็นหนึ่งในผลตอบแทนรายไตรมาสที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ PayPal 

Cryptocurrencies และ CBDC เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ดังนั้นจึงมีปัจจัยหลากหลายที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือตัวกลางทางการเงินเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเงิน fiat และเงินดิจิทัลนั้นล้วนมีวัตถุประสงค์การใช้งานเดียวกัน เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของตัวกลางทางการเงินมากมายในทุกรูปแบบและทุกขนาด ซึ่งตัวกลางเหล่านี้สามารถสร้างบริการเฉพาะที่เหมาะสมและหลากหลายในการใช้งานแต่ละรูปแบบโดยรวมเงินอิเล็กทรอนิกส์ CBDC และสกุลเงินดิจิทัลประเภทต่างๆ เข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่นบัตร Visa ที่ปัจจุบันรองรับการใช้เงิน fiat, Crypto, โลหะมีค่า และ Bitcoin Cashback และสถาบันการเงินที่สามารถพัฒนาการทำงานกับรูปแบบและบริการที่หลากหลาย แก่องค์กรและคนทั่วไปให้สามารถเลือกใช้เงิน/สกุลเงิน/ ระบบการชำระเงินประเภทต่างๆ ได้พร้อมกันก็จะครองใจผู้บริโภค

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย :   ปรมินทร์ อินโสม 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564