วันที่ 5 มีนาคม 64 ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ว่า
ที่ผ่านมาได้ถูกสอบถามถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก หลายเรื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยคำถามแรก คือกรณีที่รัฐบาลได้มีการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินให้กับประชาชนนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะทำให้สถาบันการเงินได้รับผลกระทบมากนัก
ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กำหนดเพดานไว้ไม่ต่ำ 11% แต่สถาบันการเงินไทยการกันสัดส่วนนี้ไว้มากถึง 19-20% เช่นเดียวกับเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีสะสมอยู่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าปี 2540 ที่มีอยู่เพียง 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ถือว่าฐานะทางการเงินของประเทศยังคงแข็งแกร่งอยู่อย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องการว่างงาน ปกติประเทศไทยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยต่อปีประมาณ 0.9% ยกเว้นเข้าสู่ช่วงเด็กจบใหม่เข้ามาตลาดงานก็อาจเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย 3-4 แสนคน โดยที่ผ่านมามีการนำเสนอว่า ช่วงการเกิดโควิด-19 จะทำให้มีจำนวนคนว่างงานทะลุถึง 8-10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ออกมาก็ไม่เป็นตามนั้น เพราะล่าสุดในปลายปีที่แล้ว มีจำนวนคนว่างงาน 7-8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ประมาณ 1.9-2% เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้อาจทะลุไปถึง 1 ล้านคนก็เป็นไปได้ แต่จะไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่ออกมาประเมินเอาไว้ส่าจะสูงถึง 8-10 ล้านคนเป็นไปไม่ได้แน่นอน
“หากเราจะพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไปนี้ แนวโน้มมันไม่น่าจะเลวลง แนวโน้มมันมีแต่จะเรียบ ๆ ทั่วโลกอาจมีการสะดุดบ้าง เพราะกระบวนการต่อสู้กับโรคระบาดมันจะเวียนกลับมา เพราะว่าเราสู้ชนะส่วนหนึ่งไปแล้ว เขาจะกลายเป็นพันธุ์ใหม่ แล้วกว่าเราจะเอา 100 กว่าประเทศทั่วโลกที่ติดไปกลับมาหายพร้อมเพียงกัน อย่างน้อยคงต้องใช้เวลาถึง 5-7 ปี โดยทุกคนมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่วัคซีนที่ได้ก็ไม่รู้ว่าคุ้มกันได้ขนาดไหน ซึ่งสภาพที่เรามองจากในจุดที่มันค่อนข้าง จะแย่และจะแย่ไปมากกว่านั้นอีก มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะในช่วงที่เป็น Extreme Conditions หรือภาวะที่เรียกว่าสุดกู่ อย่าได้ลากเส้นทางเศรษฐมิติขึ้นมาเพราะมันไม่ใช่ภาวะปกติ มันจะกระโดด เพราะมันจะไม่ดีเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อยากให้หนักใจ หรือตื่นตระหนกตกใจมาก”
นายศุภชัย กล่าวว่า ภาวะที่เราเจอวันนี้ ก็เห็นสอดคล้องกันกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ซึ่งออกมาเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจไทยว่า เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจจากเดิมที่บอกว่าจะติดลบ 10% แต่ตัวเลขจริงออกมาทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ส่วนเรื่องของหนี้สินนั้น ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยอย่างเดียวแต่รัฐบาลทั่วโลกเจอโจมตีเหมือนกันหมดว่าเป็นรัฐบาลนักกู้กันทั้งนั้น ซึ่งมาถามผมอยากจะถามว่ามีประเทศไหนที่รัฐบาลไม่กู้เงินเอามาช่วยประชาชนเพื่อทำ Survival Economic หรือการทำเศรษฐกิจให้อยู่รอด คือเอาแค่อยู่รอด แต่จะกู้มากกู้น้อย หรือพิมพ์แบงก์หรือไม่ ก็ทำทั้งนั้น
ล่าสุดทั้งธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็เปิดช่องให้หลายประเทศกู้เงินในเงื่อนไขพิเศษทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก ดังนั้นในขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งกำลังเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 50% นั้น หากเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งก็เพิ่มไปถึง 60% แต่พอผ่านไปก็เริ่มชะลอลงเหลือ 40% และเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึง50% ซึ่งส่วนตัวมองว่า สัดส่วนที่กำหนดเอาไว้ 60% เป็นตัวเลขที่ดีหากทำได้ ส่วนประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนสูงกว่านี้มาก
“ผมเป็นคนออกไปพูดเมื่อปีที่แล้ว 2-3 ครั้งว่า หากกู้เงินเพิ่มจนทำให้สัดส่วนหนี้สูงทะลุกรอบ 70-80% ผมยังยอม เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องกู้มาประคองเศรษฐกิจแบบ Survival Economic คุณอย่าเอามาตรฐานตอนที่ดี ๆ มาพูดกัน คือถ้าคุณดี ๆ อยู่แล้วคุณไปกู้ อย่างนี้เรียกว่าข้างในคุณเน่าแล้ว แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันกำลังเน่าอยู่บนเปลือก เราต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้มันไปหาข้างใน แต่ถ้าคุณบอกแบบนี้ไม่เอา ผมว่าคุณคิดแบบนี้คุณฉลาดไม่พอ โดยตอนนี้ดอกเบี้ยกำลังอยู่ใกล้ศูนย์ด้วย”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้กู้เงินด้วยการออกพ.ร.ก.มาแล้ว ตอนนี้ยังมีเงินพอแน่นอน แต่ก็ต้องใช้ให้เหมาะสม ถูกเรื่อง ถูกเวลา ใช้กระสุนให้พอถ้าจะตุนเอาไว้ ดีกว่าไปถล่มใช้ทีเดียวหมดแล้วกู้ใหม่ แต่ถ้าหมดก็ต้องลองมาดูกันอีกที อย่างเอามาช่วยเอสเอ็มอี อยากให้ใช้ให้หมดไปเลย เงินยังเหลืออยู่อีก อยากให้ปล่อยเงินให้ง่าย อย่าหวงให้เขาเอาเงินไปใช้ลงทุน ถ้าทำได้เร็วเขาจะดีขึ้นทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรายังชะลอ ๆ เขาจะอยู่ไม่รอดเมื่อสถานการณ์กลับมาดีแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาไม่ปกติขืนไปรบแบบปกติคุณก็แพ้สงคราม
อดีตเลขาธิการอังก์ถัด กล่าวว่า การฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้นั้น ได้ยกประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุเอาไว้ 8 ข้อ ซึ่งตรงกับที่คิดเอาไว้ คือ 1. การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ ที่ผ่านมาเราจัดการดีแต่ปล่อยคนเข้ามาน้อย แต่ก็ต้องดูให้เหมาะสมค่อย ๆ เปิด โดยเฉพาะหลังจากมีวัคซีนเต็มที่ ซึ่งทั่วโลกจะทำแบบบับเบลเทรนด์ทั้งนั้น
2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ และการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนตัวคิดว่า ชั่วกัปชั่วกัลป์ เราขอกับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยผมเริ่มต้นการเมืองมา จนเลิก การเมืองมีเสถียรภาพของบ้านเราเป็นอะไรที่ลำบาก แต่ว่าเฉพาะบ้านเรามีปัญหาก็ไม่ถูก เพราะจากที่ไปทำงานมากับหลายสิบประเทศทั่วโลกก็เห็นปัญหานี้ว่าทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงฟูมฟัก อ่อนแอ ก็ยังปัญหา และหวังว่าสักวันหนึ่งจะมี Political Distancing หรือการเมืองแบบเว้นระยะห่างเกิดขึ้นมาบ้าง ให้สงบ ๆ อยู่ห่าง ๆ กันบ้าง อย่าประชิดตัวกันมากเกินไป หรือใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมืองอย่างเดียว โดยไม่ได้แก้เศรษฐกิจ เพราะทั้งหมดนั้นใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน
3.ช่วยเหลือการท่องเที่ยวและเอสเอ็มอี เป็นการท่องเที่ยวเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทำลายสิ่งแวดล้อม 4.เร่งการใช้งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุน 5.เร่งให้ภาคเอกชนได้ลงทุนจริง โดยจะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงให้ได้ เพราะปัจจุบันเรามีสัดส่วนการลงทุนจริงต่อจีดีพี 23% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่30% ดังนั้นจึงต้องทำให้ได้ 27-30% 6.การเตรียมความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยว 7. การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภาคเกษตร และการรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และ8.การเตรียมตัวรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตามมี 4 ข้อที่อยากให้เน้น 1.การอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อประคองเศรษฐกิจนั้นทำได้ แต่ก็ต้องทำพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปด้วยโดยอย่าละเลย โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) โดยเฉพาะ Bio Economic ที่มีความสำคัญอย่างมากกับประเทศไทย 2.ด้านการศึกษา จะถดถอยทุกปีไม่ได้ เพราะที่ผ่านการอันดับทางการศึกษาของไทย โดย WEF ประกาศออกมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ตัวเลขเด็กมัธยมศึกษาที่ไปต่ออาชีวะศึกษามีแค่ 45% ของการศึกษาทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมแล้วจะมีสัดส่วนสูงถึง 90% เพื่อให้ผลิตคนให้ตรงตามความต้องการได้ และจากนี้ไป 20 ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดมีประชากรกว่า 28% ที่มีอายุเกิน 60 ปี พร้อมกันนี้ยังต้องพัฒนาทักษะคน โดยเพิ่มผลิตภาพเพิ่มขึ้น
3.การลงทุนปัจจุบันมีจำนวนการลงทุนน้อยมากและต่ำมาก โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปรับลดลงมาก โดยต่ำว่าประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีคำขอแต่ยังไม่มีการลงทุน และ 4. เรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนควบคู่ไปกับเอสเอ็มอี โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถือเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับฐานรากจริง ๆ
รับชมปาฐกถาย้อนหลังที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย