นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต หรือหมอชิตคอมเพล็กซ์ ล่าสุดได้ประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก และบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) โดยได้เห็นชอบร่วมกันที่จะให้กรุงเทพมหานคร ยกเลิกการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่โดยรอบในการสร้างทางยกระดับเข้าออกจากโครงการฯ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
โดย บขส. จะเร่งสำรวจว่าควรมีรถประเภทใด จำนวนเท่าไร ที่จะเข้ามาใช้พื้นที่หมอชิตคอมเพล็กซ์ โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ กทม.ไปใช้ประกอบการเสนอขอ ถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต (เก่า) รวมถึงให้นำข้อมูลเสนอไปยัง สนข. เพื่อพิจารณาจัดระเบียบจราจรในพื้นที่ใหม่ รวมทั้งเสนอให้บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) ผู้ได้สิทธิพัฒนาหมอชิตคอมเพล็กซ์ ได้รับทราบและนำไปใช้ปรับปรุงแบบการใช้พื้นที่บางส่วนต่อไปได้
“ตามขั้นตอนการขอถอนพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน จะต้องมีการจัดทำข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลประกอบขอการยกเลิก ดังนั้นที่ประชุมจึงให้ บขส.ไปเร่งสำรวจข้อมูลปริมาณรถที่จะนำเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ต้องเวนคืนให้เสร็จภายใน 1 เดือน และนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมใหม่อีกครั้งในเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคเอกชน กทม. กรมการขนส่งทางบก บขส. เพื่อหาข้อมูล และนำส่งให้ กทม.ไปใช้ประกอบการยกเลิกเวนคืนที่ดินต่อไป” นายยุทธนา กล่าว
โดยนายยุทธนา กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ได้ยื่นศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในโครงการโดยไม่ต้องมีการเวนคืนไปแล้ว และจะใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ชดเชย 1.1 แสนตารางเมตร ทางกรมการขนส่งทางบกยืนยันที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์เหมือนเดิมแต่อาจปรับรูปแบบให้ย้ายมาบางส่วน เช่น รถขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจร และการเวนคืนที่ดิน ซึ่งกรมฯมั่นใจว่าโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ที่ล่าช้ามา 24 ปีจะได้ข้อยุติ และเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ซึ่งหากโครงการเกิดได้จะทำให้เกิดการลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท มีการจ้างงานหลายอัตรา เกิดศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และยังทำให้กรมฯ มีรายได้นำส่งเข้าคลังเพิ่มขึ้นกว่า 1,200 ล้านบาท