Just Say No 

26 เม.ย. 2564 | 04:32 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2564 | 11:39 น.

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor ) ชั้นแนวหน้า

 

ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อต้นปี 2563  โลกของการลงทุนก็เปลี่ยนไป  จากการลงทุนโดย “มืออาชีพ” และนักลงทุนสถาบัน รวมถึงนักลงทุนส่วนบุคคลผู้มุ่งมั่น เป็นผู้เล่นหลัก  ก็กลายเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่เน้นการ “เก็งกำไร” เป็นหลัก   การเข้ามา “เล่น” ของพวกเขา  ทำให้ทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์ทางการเงินจำนวนมาก  ซึ่งรวมถึงหุ้นและอนุพันธุ์ของหุ้น  และ Crypto Currency เช่น บิทคอยน์  มีราคาขึ้นไปอย่างรวดเร็วและสูงจน “กูรู” หรือผู้เชี่ยวชาญ  “รุ่นเก่า” ส่วนใหญ่มองว่า  “เป็นไปไม่ได้” และคิดว่าในที่สุดมันก็จะต้องตกลงมาอย่างแรงและคนที่เข้าไปเล่นก็จะเสียหายอย่างหนัก  ผมเองก็คิดอย่างนั้น  และโดยส่วนตัวก็ไม่ได้เข้าไปร่วมใน “มหกรรมการเก็งกำไร” ที่น่าจะพูดได้ว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก 

ถ้าจะพูดว่าผมอาจจะ  “ตกยุค” ที่ไม่ตระหนักว่าโลกของการลงทุนกำลัง “เปลี่ยนไป”  ธุรกิจต่าง ๆ และโครงสร้างของการทำธุรกรรมการเงินรุ่นเก่ากำลังล่มสลายหรือถูก Disrupt และทำให้เสียโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีมานี้ผมก็ยอมรับ  เพราะการลงทุนในระยะสั้นนั้น  ผลงานการลงทุนย่อมขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดอยู่ไม่น้อย  ในยามที่ตลาดกำลัง “ร้อนแรง” และมีการ “เก็งกำไร” ที่สูงมากอย่างในช่วงเร็ว ๆ  นี้  คนที่เล่นหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่มีการเก็งกำไรสูงก็มักจะทำผลงานได้ดีมาก  บางคนปีเดียวสามารถทำกำไรได้เป็น 100% หรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มี  โดยวิธีการที่ทำก็คือการ “ไล่ล่า” หาหลักทรัพย์ที่วิ่งขึ้นไปแรงมาก ๆ  ซื้อแล้วขายอย่างรวดเร็วแล้วก็หาซื้อตัวใหม่เล่น  ทั้งหมดนั้นยังอาศัยการ “กู้เงิน”  ผ่านบัญชีมาร์จินและ/หรืออ็อปชั่นของหลักทรัพย์ซึ่งสามารถขยายผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกมาก  ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถและพฤติกรรมการลงทุนของผมที่เน้น “การลงทุนระยะยาว” และหลีกเลี่ยง  “ความเสี่ยง” ที่จะเสียหายหนัก  หรือเรียกว่าเป็นการลงทุนแบบ “เต่า”

แน่นอนว่าผมเองก็รู้สึก “เสียดาย” อยู่เหมือนกันที่ทำไมไม่ซื้อหุ้นตัวนั้นหรือไม่เข้าไป “เล่น” สินทรัพย์แบบบิทคอยน์ในช่วงแรก ๆ  ที่ดูเหมือนว่ามันจะต้องขึ้นเมื่อคำนึงถึงขนาดของนักลงทุนรายย่อยที่แห่กันเข้ามาในตลาดอานิสงค์จากโควิด-19  มองย้อนหลังไป 1-2 ปีที่ผ่านมาผมเองก็รูสึกเหมือนกันว่าหุ้นหลายตัวหรือสินทรัพย์บางอย่างน่าจะต้องวิ่งขึ้นไปได้แรงแต่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรกับมัน  บางทีอาจจะเป็นเพราะผมกลัวความเสี่ยงมากเกินไป  บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าผมกังวลกับ  “ภาพใหญ่” ของเศรษฐกิจที่ไม่ดีอย่างมาก  หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะอายุที่มากขึ้นทำให้คิดอะไรช้าลงและไม่อยากเคลื่อนไหวมากในสไตล์แบบ “เต่าที่กำลังเจอพายุ” ที่มักจะชอบ “อยู่นิ่ง ๆ”  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การที่อยู่มานานและได้เห็นการขึ้นอย่างแรงของหุ้นหรือทรัพย์สินบางอย่างที่ไม่ได้มีพื้นฐานจริง ๆ  มารองรับ  และสุดท้ายมันก็ตกลงไปที่เดิมทำให้ผมคิดว่า  เราไม่ควรพยายามทำกำไรจากสิ่งที่เป็น “อนิจจัง” เหล่านั้น

ถึงวันนี้  ผมน่าจะมีหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ผมมักจะ “Say No” หรือไม่ค่อยสนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือเกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อย  ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่กำลังวิ่งขึ้นร้อนแรงและให้ผลตอบแทนสุดยอดในระยะเวลาอันสั้น  เนื่องจากนักลงทุนหรือนักเล่นเก็งกำไรเข้าไปเล่นกันเป็นจำนวนมาก   และทั้ง ๆ  ที่ผมเองก็คิดว่าราคาก็คงจะขึ้นไปอีกและอาจจะสามารถทำกำไรได้ง่าย ๆ  แต่ผมก็ไม่ทำ  ผมคงยึดติดกับคำพูดของบัฟเฟตต์ที่ว่า  “ถ้าไม่พร้อมที่จะถือมัน 5 ปี  ห้านาทีเราก็ไม่ควรจะเข้าไปถือมัน”  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะในช่วงนี้ชอบกันมากแต่ผม “ไม่เล่น” หรือไม่สนใจที่จะลงทุน

หุ้น IPO คือสิ่งที่ผมแทบจะ “เลิกจอง”  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเข้าไปซื้อในตลาดหุ้นในวันแรกที่เข้าตลาด  ผมคิดว่าหุ้น IPO นั้นไม่มีคำว่าถูกวัดจาก “พื้นฐาน” ของกิจการ  ถ้าซื้อแล้วถือยาว  โอกาสกำไรก็อาจจะน้อย  แน่นอนว่ามีหุ้น IPO บางตัวอาจจะถูกจริง  แต่นั่นคงเป็นเพราะที่ปรึกษา “ประเมินผิด” หรือสถานการณ์หลังจากเข้าตลาดแล้วเปลี่ยนไป  ทำให้บริษัทดีขึ้นมาก  แต่นั่นสำหรับผมคือข้อยกเว้น  และผมไม่อยากจะเสี่ยง  ดังนั้น  วิธีหลีกเลี่ยงที่จะซื้อหุ้นแพงอย่างหนึ่งก็คือ  ไม่จองหุ้น IPO  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราก็แทบจะไม่เคยได้รับจัดสรรหุ้น IPO จำนวนมากอยู่แล้ว  ดังนั้น  ถึงจะทำกำไรได้ในวันหุ้นเข้าตลาด  มันก็ไม่มีนัยสำคัญกับผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวม

หุ้นที่เป็น Cyclical เช่นหุ้นเดินเรือหรือหุ้นเหล็กที่กำลังร้อนแรงในช่วงเร็ว ๆ  นี้ เป็นหุ้นกลุ่มหนึ่งที่ผม  “Just Say No” คือไม่สนใจจะเข้าไปซื้อหรือเข้าไปเล่น  ว่าที่จริงเมื่อหลายเดือนก่อน  ก่อนที่ราคาหุ้นในกลุ่มเดินเรือจะวิ่งขึ้นไปมาก  ผมก็ได้ข่าวจากคนที่อยู่ในวงการว่าค่าระวางเรือกำลังจะขึ้นแรงและราคาหุ้นก็น่าจะขึ้นตามอย่างที่เคยเกิดทุกครั้ง  แต่ผมก็ไม่ได้เข้าไปซื้อหุ้น  พูดตามตรง  ผมเองไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางเรือ  

ดังนั้น  ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะขึ้นต่อไปและนานมากน้อยแค่ไหน  ผมแค่รู้ว่าโอกาสที่มันจะสูงอย่างนั้นตลอดไปมีน้อยและในที่สุดก็จะตกลงมาและราคาหุ้นที่ขึ้นไปนั้นก็มักจะเกินพื้นฐาน  บางทีเกินไปมาก  ดังนั้น  ความเสี่ยงก็จะสูงโดยเฉพาะถ้าเราเข้าซื้อหุ้นในยามที่ราคาขึ้นไปมากแล้ว และนั่นก็คือสิ่งที่ผมเห็นมาเป็นระยะตลอดหลายสิบปีที่ผ่าน  ซึ่งก็น่าจะมีผลทำให้ผมไม่สนใจเข้าไปร่วมในการเก็งกำไรหุ้นที่เป็นวัฎจักร  แม้ว่าบางครั้งผมจะคิดว่าคราวนี้อาจจะทำเงินได้ง่าย ๆ ก็ตาม

หุ้นที่ “ขายสตอรี่” คือหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแรงเพราะบริษัทมีแผนที่จะ “ลุย” ธุรกิจหรืออะไรบางอย่างที่กำลังเป็นเทรนด์  เช่น  การขายผลิตภัณฑ์กัญชาหรือไปทำโรงไฟฟ้าหรือทำแบตเตอรี่  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เป็นของใหม่ที่อาจจะไม่ได้ทำเงินหรือทำให้ขาดทุนก็ได้โดยเฉพาะถ้าบริษัทไม่ได้มีประสบการณ์หรือมีความได้เปรียบอะไรเมื่อเทียบกับคนอื่นและที่ทำอยู่แล้ว  ดังนั้น  ผมจึงมักจะ  “Say no to story”  และจะไม่ให้ค่า ราคาที่ผมจะจ่ายนั้น  จะต้องคิดเฉพาะสิ่งที่บริษัทมีอยู่เท่านั้น  และหุ้นที่มีสตอรี่มักจะมีราคาแพงเนื่องจากมีการเก็งกำไรสูง  ดังนั้น  ผมจึงมักจะไม่ซื้อหุ้นที่มีสตอรี่

หุ้นไฮเท็ค ซึ่งแน่นอนรวมถึงหุ้นดิจิตอลที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกได้  เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ผม  “Just Say No”  ไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อว่ามันจะเปลี่ยนได้จริง  ผมคิดว่ามันกำลังจะเปลี่ยนอยู่แล้ว  แม้แต่ตัวเองทุกวันนี้ที่ยังไม่ชำนาญการใช้เทคโนโลยีใหม่เท่าที่ควร   แต่ก็ต้องใช้แทบจะตลอดเวลา  เหตุเพราะมันมีความจำเป็นต้องใช้เนื่องจากสิ่งเก่า ๆ  กำลังเลิกไป  หรือประสิทธิภาพต่ำกว่าของใหม่มาก  

แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่กล้าที่จะลงทุนซื้อหุ้นอยู่ที่ “ราคา” ของหุ้นที่มักจะสูงมากจนทำให้คนที่เน้น “Value” อย่างผมรับไม่ได้  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การประมาณและประเมินผลประกอบการของกิจการนั้นทำได้ยากเนื่องจากมันเป็น “ของใหม่” ที่ไม่มีใครรู้ว่ายอดขายจะโตแค่ไหนและกำไรจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันไกล  นอกจากนั้น  ธุรกิจไฮเท็คหรือดิจิตอลเองนั้น  ก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และมีโอกาสที่จะถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีที่ “ใหม่กว่า” ได้เสมอ  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ผมกลัวว่าซื้อหุ้นพวกนี้ไปแล้วเกิดการปรับตัวลงครั้งใหญ่ของหุ้น  ผมจะทำอย่างไร? 

เรื่องของเงินคริปโตหรือพวก “เหรียญ” ดิจิตอลต่าง ๆ  ที่ร้อนแรงจนแทบ “ไหม้” ในช่วงนี้เนื่องจากราคาขึ้นไปหลายเท่าหรือหลายสิบเท่าในเวลาปีสองปีนั้น  เป็นสิ่งที่ผม “Say No” ไม่ใช่ว่าผมไม่รู้ว่ามันคืออะไรหรือทำอะไรหรือมีประโยชน์อย่างไร  แต่อยู่ที่ความไม่แน่นอนว่ามันจะสามารถรักษาอัตถะประโยชน์ของมันได้มากและยาวนานแค่ไหน  เหตุก็เพราะว่า “คู่แข่ง” หรือเหรียญใหม่ ๆ  สามารถที่จะถูกสร้างขึ้นมาได้เสมอ  นอกจากนั้น  ค่าที่ว่าเรื่องของเงินตราเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกต่างก็ควบคุมเพื่อผลในการสร้างความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  

ดังนั้น  เหรียญที่จะมา “ทำลาย” หรือ Disrupt เงินของรัฐจึงอาจจะถูกกีดกันโดยรัฐบาลต่าง ๆ  ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้  ตัวอย่างล่าสุดก็คือข่าวที่ว่าอเมริกาจะเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโตในอัตราที่สูงมากก็ได้ทำให้ราคาบิทคอยน์ตกลงมาระดับ 10% ในวันเดียว  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สูงมากสำหรับการลงทุนในเหรียญดิจิตอลเหล่านี้

ผมไม่รู้ว่าการ “Just Say No” ในเรื่องต่าง ๆ  เกี่ยวกับการลงทุนเช่นที่ผมทำอยู่นี้  จริง ๆ แล้วให้ผลที่ดีหรือเสียกันแน่กับผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวของผม  แต่ที่รู้แน่ ๆ ก็คือมันช่วยให้ผม “จำกัด” ตัวเองให้ทำเฉพาะในสิ่งที่อยู่ใน  “Circle of Competence” หรือความรอบรู้ของผม  พูดง่าย ๆ  สิ่งที่เราไม่รู้  เราก็จะไม่ทำ  แน่นอนว่า  ผมไมได้ Just Say No 100%  ตัวอย่างเช่น  บางครั้งผมก็ซื้อหุ้นจอง  บางครั้งอาจจะซื้อหุ้นวัฏจักรหรือหุ้นไฮเท็ค  แต่ก็จะเป็น “ข้อยกเว้น”  และก็ต้องมีเหตุผลพอ   และเหตุผลนั้นจะต้องไม่ใช่เพราะความโลภ  อยากรวยเร็ว  เพราะนั่นจะเป็นอันตราย  ว่าที่จริง  เหตุผลที่คนจำนวนมากแห่กันเข้ามาเล่นหุ้นที่เก็งกำไรสูงมากจากหุ้นหรือเหรียญดิจิตอลต่าง ๆ  ก็คือ  ความโลภ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงนั่นเอง

Posted by nivate at 11:00 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 

บทความย้อนหลัง

หุ้นไทยเมื่อไรจะฟื้น 

โควิดรอบ 3

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท