ตื่นโควิด แห่ช็อปประกัน “เจอ จ่าย จบ”

29 เม.ย. 2564 | 23:30 น.

โควิด-19รอบ3 ทำคนตื่นแห่ช็อปประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” เงินติดล้อ เผย “โควิดคอมพลีท”ตอบโจทย์ลูกค้าด้านทิพยเน้นรักษาพยาบาล สมาคมวินาศภัยเตรียมทบทวนอัตราเบี้ย ถ้ายอดผู้ป่วยสะสมแตะ 1 แสนราย คปภ.แจง 15 วันยอดกรมธรรม์พุ่ง 3 ล้านฉบับ 

การระบาดของโควิด-19 รอบ3 สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนคนไทยอีกครั้ง จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังสูงกว่า 2,000 รายต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มเป็นเลขสองหลัก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับช่วงที่มีการระบาดรอบแรกในไทย เพราะไม่ต้องการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง  ทำให้ประชาชนต้องหันมาป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยภัย สะท้อนจากยอดขายประกันโควิดที่มีประมาณวันละแสนฉบับ โดยเฉพาะประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่แต่ละค่ายอัดแคมเปญทำตลาด แม้ว่าจะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงของบริษัทประกันก็ตาม 

ขณะเดียวกันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดเคลมประกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ณ วันที่ 27 เมษายน มีการจ่ายเคลมสินไหมไปแล้ว 195 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการซื้อประกันภัยโควิดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 15 เมษายน มียอดทำประกันเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านฉบับ จากวันที่ 31มีนาคม

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)หรือ TIDLOR เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทมียอดขายประกันโควิดระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ถึง 26 เมษายนถึง 70,000 กรมธรรม์  ครอบคลุม 6 แผน ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อประกัน 2บริษัทคือ บมจ.กรุงเทพประกันภัย(BKI) และบมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) โดยเฉพาะกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบนั้น ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดเด่น เมื่อตรวจเจอเชื้อ จ่ายแต่ไม่จบ โดยคุ้มครองต่อเนื่องถึงการรักษาระยะสุดท้ายพร้อมค่าดูแลการเจ็บป่วยจาการติเดิดเชื้อวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท รวมถึงมีความคุ้มครองเกี่ยวกับการแพ้วัคซีนโควิดด้วย

ประกันภัยกุล่ม 10 บาท ซุปเอร์พลัส

สำหรับแบบประกันของ BKI “โควิดคอมพลีท” แผน 1 ตรวจเจอเชื้อครั้งแรกรับเงินก้อน 10,000 บาท ภาวะโคม่าเสียชีวิต 100,000บาท แผน 2 ค่าเบี้ย 259บาท ตรวจเจอเชื้อจ่าย 10,000บาท ภาวะโคม่าหรือเสียชีวิต 300,000บาท แผน3 ค่าเบี้ย 459บาท ตรวจเจอเชื้อ จ่าย50,000บาท ภาวะโคม่าหรือเสียชีวิต 500,000บาท และโควิดคอมพลีท แผน 4 ค่าเบี้ย 859บาท ตรวจเจอเชื้อจ่าย 50,000บาท ภาวะโคม่าหรือเสียชีวิต 1 ล้านบาท

ส่วนอีก 2 แผนเน้นค่ารักษาพยาบาลของTIP คือ ไวรัสโคโรนา แผน1 ค่าเบี้ย 450บาท ค่ารักษาพยาบาล 50,000บาท กรณีโคม่าจากการติดเชื้อหรือแพ้วัคซีน 5แสนบาท และไวรัสโคโรนา แผน2 ค่าเบี้ย 850บาท ค่ารักษาพยาบาล 1แสนบาท กรณีเจ็บป่วยด้วยภาวะโคมาจากการติดเชื้อหรือแพ้วัคซีน 1ล้านบาท โดยปัจจุบันทางบริษัทประกันยังไม่สรุปตัวเลขให้

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยหรือ TGIAกล่าวว่า ยอดขายกรมธรรม์
โควิดปีก่อนราว 9 ล้านกรมธรรม์ แต่ยอดเคลมน้อยมาก ทำให้ตั้งแต่ครึ่งหลังปีก่อนจนถึงต้นปี 2564 คนไม่ค่อยสนใจซื้อประกันโควิดนัก ทั้งยอดขายรายใหม่ ยอดต่ออายุ และยอดเคลมต่ำ จนกระทั่งเดือนมีนาคมและเมษายนเริ่มเห็นสัญญาณการระบาดของโควิดรอบ3 แนวโน้มแรงกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะต้นเดือนเมษายนคนแห่ซื้อประกันโควิดหนัก ขณะที่ยอดเคลม 3 เดือนแรกปีนี้มากกว่าปีก่อนทั้งปี 20-30% โดยเฉพาะหลังเมษายน ยอดเคลมเริ่มไหลเข้ามาราว 100 รายต่อวัน ซึ่งแม้ว่ายอดเคลมจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับยอดขายกรมธรรม์ปีก่อนและปีนี้ เชื่อว่า บริษัทประกันยังรับไหว 

“ผมคิดว่า ถ้ายอดผู้ป่วยสะสมเพิ่ม 1-2 แสนคน จากปัจจุบันกว่า 5 หมื่นคน คงต้องกลับมาทบทวนเบี้ยประกันที่คิดอยู่ปัจจุบันว่า จะเพียงพอหรือไม่ ปีนี้ยอดผู้ติดเชื้อทวีคูณ รุนแรงกว่าปีก่อน จึงต้องติดตามทุกวัน ซึ่งหลายบริษัทเริ่มดูยอดเคลมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการรับประกันภัยโควิดนั้น ขณะนี้มีเพียงเมืองไทยเท่านั้นที่ยังรับอยู่ และการฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน จึงเป็นความหวังเดียว ที่สำคัญประชาชนต้องดูแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเองก็จะช่วยคนรอบข้างและระบบระดับหนึ่ง”นายอานนท์กล่าว

แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้เกิดกระแสในโซเชียลชักจูงให้คนซื้อกรมธรรม์โควิด “แบบ เจอ จ่าย จบ” โดยเป็นการเอาตัวเองไปเสี่ยงให้ติดเชื้อโควิด เพื่อจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเคลมประกัน ส่วนหนึ่งทำให้บริษัทประกันต้องปรับเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ หรือ ไม่ขายประกันดังกล่าว ถ้าลูกค้ามีประวัติทำประกันโควิดกับหลายบริษัทหรือหลายรมธรรม์

“ประเด็นนี้ทำให้คนตื่นซื้อประกันกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบเยอะ ซึ่งมีข้อมูลปรากฏตามโซเชียล และมีการสอบถามคปภ. ซึ่งคปภ.เคยออกประกาศเตือนประชาชนแล้วเพื่อไม่ให้หลงเชื่อ เพราะการทำประกันลักษณะนี้เข้าข่ายฉ้อฉล โดยคนที่ทำประกันฉ้อฉลนี้เสี่ยงจะตายฟรี เพราะติดเชื้อโควิดแล้วบริษัทประกันไม่จ่ายเคลม” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,674 วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564