เบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้นทุกปี เตรียมพร้อมอย่างไรดี 

07 พ.ค. 2564 | 21:51 น.

บางคนอาจคิดว่าการทำประกันสุขภาพเหมือน “เป็นภาระ” หากไม่ได้ใช้ ไม่ได้เบิกเคลมค่าใช้จ่าย ก็ไม่ได้เงินคืน ที่สำคัญ เบี้ยประกันไม่ได้คงที่ไปตลอดทุกปี แต่ยังปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้บางคนมักจะลังเลในการตัดสินใจทำประกันสุขภาพ การที่เบี้ยประกันมีการปรับเพิ่มขึ้น เป็นเพราะอะไร ควรเตรียมพร้อมอย่างไรดี


“หาเงินมาทั้งชีวิต หากโรคภัยทำพิษ เงินเก็บทั้งชีวิตก็หายไป” หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวนี้มาบ้าง แต่ในวันที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ เกิดขึ้น บางคนอาจคิดว่าการทำประกันสุขภาพเหมือน “เป็นภาระ” ที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันทิ้งไปเปล่าๆ หากไม่ได้ใช้ ไม่ได้เบิกเคลมค่าใช้จ่าย ก็ไม่ได้เงินคืน ที่สำคัญ เบี้ยประกันไม่ได้คงที่ไปตลอดทุกปี แต่ยังปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้บางคนมักจะลังเลในการตัดสินใจทำประกันสุขภาพ ทั้งนี้ ประกันเป็นภาระจริงหรือไม่ แล้วการที่เบี้ยประกันมีการปรับเพิ่มขึ้น เป็นเพราะอะไร ควรเตรียมพร้อมอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบค่ะ

ในแง่ของการวางแผนการเงิน การทำประกันสุขภาพถือเป็นการโอนย้ายความเสี่ยงทางการเงิน เป็นการช่วย “แบ่งเบาภาระ และบรรเทาความเสียหาย” ในยามที่เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่คาดไม่ถึงไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง หรือภาวะทุพพลภาพ เป็นต้น โดย “บริษัทประกัน” เป็นผู้รับประกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยด้านต่างๆ แทนเรา และเราก็มีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกันตามสัญญา หากเราสามารถวางแผนได้ครอบคลุมมากเท่าไร วันใดที่เราเจ็บป่วยขึ้นมา ประกันสุขภาพที่มีอยู่ จะช่วยลดความกังวลใจของเราไปได้เท่านั้น แต่ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันของเราด้วย ซึ่งข้อแนะนำคือ “เบี้ยประกันที่ชำระไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้ทั้งปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงินที่สูงเกินไปนัก

 

เบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้นทุกปี เตรียมพร้อมอย่างไรดี 

นอกจากวางแผนประกันสุขภาพให้เหมาะสมในปัจจุบันแล้ว การเตรียมพร้อมเพื่อชำระเบี้ยประกันในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว “เบี้ยประกันสุขภาพจะมีราคาสูงขึ้นตามอายุ เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย (ปรับเพิ่มทุกปี ทุก 5 ปี หรือทุก 10 ปี ขึ้นอยู่กับสัญญาสุขภาพและบริษัทประกัน) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราควรรับทราบตั้งแต่เริ่มทำประกันสุขภาพ หรือเมื่อมีการทบทวนแผนประกันในแต่ละปี โดยสามารถสอบถามอัตราเบี้ยประกัน ได้จากตัวแทนประกันชีวิตที่ดูแลกรมธรรม์ สอบถามที่ปรึกษาการเงินหรือค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทประกัน หากเราวางแผนได้เร็ว ก็จะมีระยะเวลาในการเตรียมเงินที่นานขึ้นเพื่อชำระเบี้ยประกันในอนาคต ซึ่งมีข้อแนะนำในการเตรียมพร้อมดังต่อไปนี้

1.วางแผนชำระเบี้ยประกันในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยการจัดทำงบกระแสเงินสดล่วงหน้า สำรวจรายรับ รายจ่าย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น อาจมีการแยกบัญชีเงินเก็บ หรือทยอยออมเงินต่อเดือนเพิ่มขึ้น เช่น จากเดิมกันเงินออมสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพไว้ 5% ของรายได้ ก็ปรับเพิ่มเป็น 10% ของรายได้ เพื่อให้สอดคล้องกับเบี้ยประกันที่ปรับเพิ่มขึ้น

2.วางแผนชำระเบี้ยประกันในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน และเบี้ยประกันสุขภาพจะยิ่งปรับขึ้นสูงมากตามอายุที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการวางแผนแยกบัญชีเงินเก็บหรือทยอยออมเงินเพิ่มขึ้นแต่ละเดือนแล้ว เราควรวางแผนจัดพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติม และอาศัยผลตอบแทนจากการลงทุน เพื่อมาชำระเบี้ยประกันในอนาคต ซึ่งอาจแยกเป็นพอร์ตการลงทุนสำหรับประกันสุขภาพโดยเฉพาะ หรือพิจารณาร่วมกับพอร์ตการลงทุนเพื่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ต้องการใช้ โดยประเมินผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในแต่ละปี และระดับความเสี่ยงจากการลงทุนที่รับได้ หากเราไม่มีเวลาศึกษาการลงทุนในหลักทรัพย์รายตัว การเลือกใช้กองทุนรวม ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ที่คอยบริหารเงินลงทุนให้ เพียงแค่เรามีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และอย่างน้อย เราควรมีเข้าใจในเบื้องต้นว่ากองทุนที่จะเลือกลงทุนนั้น มีนโยบายการลงทุนอย่างไร และมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง ทั้งนี้ สามารถปรึกษานักวางแผนการเงินมืออาชีพ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำที่ตอบโจทย์เป้าหมายของเราได้

3.เตรียมแผนสำรอง หากเกิดกรณีที่เราไม่สามารถชำระเบี้ยประกันสุขภาพแผนเดิมต่อได้ โดยอาจพิจารณาปรับลดแผนความคุ้มครองบางส่วนที่เบี้ยประกันต่ำลงมาในระดับที่เราสามารถชำระได้ (ซึ่งต้องประเมินสุขภาพของเราในขณะนั้น และตรวจสอบเงื่อนไขของบริษัทประกันก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยน) หรือหากประเมินแล้วว่า ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันสุขภาพได้เลย ก็อาจเลือกวิธีการรับความเสี่ยงไว้ด้วยตนเอง (หรือการประกันตนเอง) ด้วยการสำรองเงินหรือจัดพอร์ตการลงทุนไว้สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่างๆ ด้วยตนเอง แทนการชำระเบี้ยประกันสุขภาพในแต่ละปี ซึ่งหากเราไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม หรือไม่ได้กันเงินสำรองไว้เพียงพอต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนตามที่วางแผนไว้แต่แรก ก็อาจพิจารณาเลือกใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาลแทน และควรตรวจสอบสิทธิค่ารักษาพื้นฐานที่เรามีอยู่ล่วงหน้า โดยคนไทยจะได้รับความคุ้มครองสิทธิรักษาพยาบาลจากรัฐบาล 3 ระบบหลักด้วยกัน* คือ (1) สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (2) สิทธิประกันสังคม และ (3) สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งการใช้สิทธิพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับเราได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากการพิจารณาทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับตัวเราในปัจจุบันแล้ว การวางแผนเพื่อให้สามารถชำระเบี้ยประกันได้อย่างต่อเนื่องเพื่อความคุ้มครองสุขภาพในระยะยาว ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งหากยังไม่มั่นใจว่าควรวางแผนอย่างไรดี สามารถปรึกษานักวางแผนการเงิน หรือตัวแทนประกันชีวิตที่สามารถช่วยวางแผนและให้คำแนะนำกับเราได้

*สามารถตรวจสอบสิทธิค่ารักษาพยาบาลพื้นฐานได้ดังนี้

⦁    กรมบัญชีกลาง https://mbdb.cgd.go.th/wel/ 
⦁    สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th/wpr/main 
⦁    สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) https://www.nhso.go.th/FrontEnd/Index.aspx

โดย : ปภาวี คู่ณรงค์นันทกุล นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย www.tfpa.or.th