แบงก์ชาติจับตา‘คริปโท’ เสี่ยงกระทบนโยบาย

13 พ.ค. 2564 | 19:05 น.

ธปท. ชี้พัฒนาการเงินดิจิทัลไทยล้ำภูมิภาค จับตา “คริปโท” แทนเงินบาทเสี่ยงกระทบการดำเนินนโยบาย หลังมูลค่าพุ่ง 17 เท่า เร่งสปีดทำโฟกัสกรุ๊ปควบคู่รับฟัง CBDC เพื่อรายย่อยทันปีหน้า ชี้โอกาสก้าวสู่โลกการเงินดิจิทัล

 

 

นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการพัฒนาการเงินดิจิทัลของไทยนั้นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ โดยที่ผ่านมาเรื่องการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีพัฒนาการที่ทำได้ดีและมีอัตราการใช้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริการพร้อมเพย์ทำให้อัตราการใช้โมบายแบงก์กิ้งมีอัตราการใช้สูงเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งระบบพร้อมเพย์ให้บริการผ่าน QR Code และ QR Standard ดังนั้น ไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่เริ่มทำ ทำให้การใช้จ่ายบางอย่างทำได้ง่ายและสะดวก ซึ่งเราค่อนข้างเร็วในเรื่องนี้ 2-3 ปีหลังจะเห็นการใช้และการต่อยอดค่อนข้างเร็วและก้าวกระโดด

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการเงินดิจิทัลของไทยคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากด้านโปรดักต์เงินฝากใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) เข้ามาให้บริการระบบงานหลักธนาคาร (Core Banking System) ทำให้ระบบยืดหยุ่นขึ้น หรือโมบายแบงก์กิ้ง แอปพลิเคชัน ที่มีการพัฒนาความรวดเร็วใช้ได้ดีขึ้น เห็นได้จากระบบพร้อมเพย์ และ QR Code โดยพัฒนาระบบพร้อมเพย์ใช้กับโมบาย แบงกิ้ง แอปพลิเคชันของธนาคาร เพื่อสแกน QR Code ร้านค้าหรือผู้ให้บริการ รวมทั้งในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ภาครัฐขยายบริการต่อยอดพร้อมเพย์สู่ระบบสาธารณสุข เช่น การลงทะเบียน “หมอพร้อม” จากที่เริ่มต้นโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน โดยมีการต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังเห็นพัฒนาการด้านสินเชื่อพีโลน หรือสินเชื่อบุคคลดิจิทัล(Digital Personal Loan) ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะทยอยขออนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งธปท.ผ่อนเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพลูกค้าทำให้เริ่มใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์(Data Analytics) มากขึ้น จากข้อมูลพฤติกรรมการการใช้ชีวิต หรือโทรศัพท์ทำให้ลดการนำสินทรัพย์มาเป็นหลักประกันด้วยการปล่อยกู้ก้อนเล็กๆ(ไม่เกิน 2หมื่นบาท)และอัตราดอกเบี้ย(ไม่เกิน 25%) ที่รับได้โดยไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ดังนั้นในแง่การเงินดิจิทัลพื้นฐานด้านเงินฝากหรือสินเชื่อแนวโน้มไปได้เร็วมาก

อย่างไรก็ตามด้านพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอเรนซี (Crypto Currency) นั้น หากพิจารณาตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัล ในปี 2561 นอกจากจะมีผู้ให้บริการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างมากแล้ว และยังมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการซื้อขายคริปโทในตลาดของไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2561-2563) พบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 17 เท่า ซึ่งแนวโน้มน่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่าการซื้อขายคริปโทของไทยน่าจะนำประเทศอื่นในอาเซียนและรองจากสิงคโปร์

“ไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่ออก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล สามารถรองรับธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และทำให้คนเข้ามาเล่นคริปโทค่อนข้างมาก ปัจจุบันการเข้ามาถือคริปโทส่วนใหญ่เก็งกำไรมากกว่า หน่วยงานกำกับมีความเป็นห่วงเช่นกัน แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่า มีการใช้คริปโท สนับสนุนการชำระเงิน แต่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีเคสบริษัทใหญ่ในสหรัฐและไทยเริ่มจะให้คนชำระเงินด้วยคริปโทได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการใหม่ที่เราต้องจับตาดูเช่นกัน เพราะเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ถ้าหากคนเริ่มมาใช้คริปโทแทนเงินบาท ซึ่งอาจจะเริ่มกระทบนโยบายของ ธปท.ได้

สำหรับความคืบหน้าแผนการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อรายย่อย หรือ Retail CBDC ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (ภายในวันที่ 15 มิ.ย. 2564) และขณะเดียวกันเรายังเดินสายเพื่อทำ โฟกัสกรุ๊ปเป็นกลุ่มๆ ด้วย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะมีหลากหลายทั้ง ภาคเอกชน ภาคราชการ เช่น ธนาคาร ฟินเทค สตาร์ทอัพ และภาคธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อรับรู้ถึงความกังวลและความต้องการเนื่องจากเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จึงต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564