อุตสาหกรรมการการบินและการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากประเทศต่างๆ ต้องประกาศปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส กิจกรรมต่างๆต้องหยุดชะงักลง ทำให้ธุรกิจสายการบินที่ต้องงดเที่ยวบินระหว่างประเทศไป แม้จะมีการเปิดเที่ยวบินในประเทศแล้วก็ตาม ยังคงมีผลขาดทุนต่อเนื่อง จากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างหนัก และข้อจำกัดในบางจังหวัดที่เข้มงวดในการเดินทางเข้าออกนั่นเอง
ผลกระทบจากธุรกิจท่องเที่ยวมีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563ล่าสุดก็ยังไม่ดีขึ้น โดยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 20,172 คน หดตัว 99.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย อยู่ที่ 17.17 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 31.24% สร้างรายได้ 9.26 หมื่นล้านบาท หดตัว 51.05% ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)รายงาน ปริมาณการเดินทางทางอากาศในช่วงไตรมาสแรกปีนี้พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 6.66 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาจำนวน 25.27 ล้านคน คิดเป็น 79.1% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 195,799 คน ลดลง 98.8% และผู้โดยสารภายในประเทศ 6.47 ล้านคน ลดลง60.1%
ส่วนปริมาณเที่ยวบินช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไทยมีเที่ยวบินทั้งหมด 78,621 เที่ยวบิน ลดลงจากปีที่ผ่านมาจำนวน 154,398 เที่ยวบิน คิดเป็น 66.3% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 15,958 เที่ยวบิน ลดลง 84% และเที่ยวบินในประเทศ 62,663 เที่ยวบิน ลดลง 53%
ขณะที่ความช่วยเหลือสายการบินนั้น ล่าสุดสมาคมสายการบินประเทศไทย ระบุว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการจัดสรรวัคซีนต้านไวรัสโควิด – 19 เพื่อฉีดให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในสายการบินในไทย 7 สายการบิน ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่เคยยื่นเสนอต่อทางรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นั้น ยังไม่มีข้อสรุปหรือการตอบรับจากรัฐบาล
รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มสายการบินที่จดทะเบียนในตลท. จำนวน 4 ราย คือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA), บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV), บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2563 รวม 151,218.01 ล้านบาท โดยเป็นส่วนผลขาดทุนสุทธิของ THAI ถึง 141,170.74 ล้านบาท และ NOK ยังไม่ส่งงบการเงินปี 2563 ซึ่งเป็นการขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 10,047.27 ล้านบาท จากปี 2562 มีผลขาดทุนสุทธิรวม 4 บริษัทที่ 14,216.97 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 14,092.70 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 1,696.25 ล้านบาท
ขณะที่ ในไตรมาส 1 ปี 2564 รายงานผลการดำเนินงานแล้ว 2 บริษัท คือ BA และ AAV โดย BA มีผลขาดทุนสุทธิ 745.58 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 407.03 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน AAV ขาดทุนสุทธิ 1,864.58 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1,193.20 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้าน THAI และ NOK ยังไม่ส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 เนื่องจากได้รับการยกเว้นตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน จากการอยู่ระหว่างขอฟื้นฟูกิจการ
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการเงินและบัญชี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2564 คาดยังคงขาดทุนสุทธิจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนปี 2565 จะกลับมาทำกำไรได้หรือไม่ ต้องขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ การเปิดประเทศของภาครัฐ, ปริมาณวัคซีนที่ฉีดในประเทศ และการแข่งขันเส้นทางบินแหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 13,677 เที่ยวบิน ลดลง 45%, จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 900,000 คน ลดลง 52% และรายได้ผู้โดยสารจากบัตรโดยสารอยู่ที่ 1,656 ล้านบาท ลดลง 70% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มองว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 ใกล้เคียงไตรมาสแรก จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้การวางแผนเส้นทางการบินอยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก ขณะเดียวกัน นโยบายภาครัฐในการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดพอควร และได้ขอรับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อจาก 3-4 ธนาคาร เพื่อให้บริษัทดำรงสภาพคล่องดูแลค่าใช้จ่ายและชำระหนี้คู่สัญญาได้
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด ระบุว่า ยังคงเชื่อมั่นว่า AAV จะสามารถผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ โดยการเดินทางหลังมาตรการล็อกดาวน์มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดในรอบแรก ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2564 จะมีผลขาดทุนหลักลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อาจทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ AAV มีแผนในบริหารสภาพคล่องเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินงานในปี 2563 ทั้งการออกโปรโมชั่น การศึกษาโอกาสการทำ Sale and leaseback เครื่องบิน การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มจากสถาบันการเงิน การยืดอายุหุ้นกู้ และการปรับโครงสร้างบริษัท
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564