ธปท.มอง 2ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิดในไตรมาส1ปี66

31 พ.ค. 2564 | 06:16 น.

ธปท. ผนึก 4ภาคส่วน “ รัฐ สถาบันการเงิน ธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี เร่งยกระดับช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องSMEs

ธปท.มอง 2ปัจจัย  “การระบาดCOVID-19และการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง” ฉุดการเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิดในไตรมาส1ปี66 ผนึก 4ภาคส่วน “ รัฐ สถาบันการเงิน ธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี เร่งยกระดับช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องSMEs

 

ผนึกกำลังแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวเปิดงาน

การสัมมนาออนไลน์ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยระบุว่า ความร่วมมือระหว่าง บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และสถาบันการเงินหลายแห่ง ในการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs คู่ค้า  ให้เข้าถึงสินเชื่อและบริการของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการผนึกกำลังแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และเป็นอีกตัวอย่างแนวคิดในการสนับสนุนให้กลไกการให้สินเชื่อทำงานได้อย่างเต็มขีดความสามารถในภาวะที่ยังมีความเสี่ยงสูง และช่วยบรรเทาไม่ให้ปัญหาลุกลาม ส่งผลรุนแรงต่อการจ้างงานและเสถียรภาพเศรษฐกิจมากไปกว่านี้

เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงไตรมาส1ปี 2566 กว่าจะฟื้นกลับระดับก่อนโควิด

การแพร่ระบาดของโควิด 19 นับเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ส่งผลในวงกว้างและได้ทดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs และรายย่อยมาตลอดระยะเวลาเกือบปีครึ่ง เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566 กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกและมาตรการที่ออกมาควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วง ๆ  ส่งผลต่อไปยังกำลังซื้อและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบและความทนทานของธุรกิจต้องวัดกันที่สายป่านเป็นสำคัญ บางธุรกิจที่สายป่านสั้น ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หลายธุรกิจขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ SMEs จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐรวมถึง ธปท. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาครัฐที่เน้นการเยียวยารายได้และกระตุ้นรายจ่ายของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ประกอบการ ในส่วนของ ธปท.  ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้แบบครบวงจร เพื่อให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนมีทางเลือกตัวช่วยที่เหมาะสมและทันการณ์ ตั้งแต่การพักหรือชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ลดการชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย รวมทั้งการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้เป็นธรรม นอกจากปัญหาภาระหนี้เดิม ยังมีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ ธปท. ผ่านการให้สินเชื่อ soft loan เพื่อใช้เยียวยาและเป็นเงินหมุนเวียน ซึ่งสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. soft loan เดิม อาจมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ มาตรการช่วยเหลือเดิมจึงไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงยกระดับ (step up) ความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs

ปลดล็อคซอฟต์โลนสู่สินเชื่อฟื้นฟู

ล่าสุด ธปท. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก. soft loan เดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คือ (1) ขยายขอบเขตของลูกหนี้ให้รวมผู้ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินมาก่อน (2) ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี ให้สอดคล้องกับการที่ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว (3) ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ (4) กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก (5) เพิ่มกลไกค้ำประกันโดย บสย. และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายของกลไกดังกล่าว จากปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็ก ได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มากหรือมีสายป่านสั้น และต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัวผู้ประกอบการที่มีความสนใจรับความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูนี้ ท่านสามารถติดต่อสถาบันการเงินที่ท่านเป็นลูกค้าอยู่ได้ และในการสัมมนาวันนี้ ท่านจะได้รับฟังเพิ่มเติมถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากสถาบันการเงินต่าง ๆ แม้จะได้ขยายเงื่อนไขของความช่วยเหลือในมาตรการให้ครอบคลุมขึ้นแล้ว

“สิ่งสำคัญกว่า คือ การบริหารจัดการมาตรการ (Execution) และการให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการได้มากขึ้น ที่ผ่านมา มีข้อจำกัด หรือ “gap” ที่ทำให้ SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คือ (1) ธุรกิจ SMEs มีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง (2) สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของ SMEs ได้ยาก เพราะขาดข้อมูล และ (3) ยังขาดคนกลางที่จะช่วยชี้เป้า SMEs ที่มีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด”

มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ SMEs ต้องทำงานร่วมกัน และยกระดับบทบาทของตนในการช่วยให้ SMEs ได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์

(1)     ภาครัฐและ ธปท. มีบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงภาพรวมของ SMEs โดยได้เตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการฟื้นฟู โดยได้ขยายเงื่อนไขและเพิ่มกลไก บสย. ในการรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามที่ได้เรียนข้างต้นแล้ว

(2)     สถาบันการเงิน มีบทบาทในการประสานงานและเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ

(3)     ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินกับคู่ค้ารายย่อย รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมยากที่จะเข้าถึงให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อและความเสี่ยงให้ได้ภาพครบถ้วนขึ้น

(4)     สำหรับธุรกิจ SMEs ควรปรับตัวเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่รอดและมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนสภาพคล่อง โดยอาจยกระดับการจัดการธุรกิจ เช่น การจัดการเรื่องการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐาน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และ stock สินค้าได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลฐานะการเงินของ SMEs และเพิ่มความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย

ความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นอีกตัวอย่างของการประสานพลัง และการนำข้อมูลที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดข้อจำกัดข้างต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้มากขึ้น ทั้งธุรกิจ SMEs เอง ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ผู้ประกอบธุรกิจ ที่จะมีคู่ค้าที่แข็งแกร่ง สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงิน ที่จะมั่นใจขึ้นในการปล่อยสินเชื่อและขยายฐานลูกค้า และสุดท้าย คือ ภาครัฐที่สามารถยื่นความช่วยเหลือไปสู่ผู้ที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ด้วยประโยชน์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมของโครงการนี้ ผมจึงอยากจะขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ใช้แนวทางนี้ในการขยายผลออกไปเพื่อช่วยคู่ค้ารายย่อยของท่าน ซึ่งจะทำให้ SMEs กว่า 1.8 ล้านราย ที่จ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน และเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสูงขึ้น และแม้อาจไม่สามารถช่วยได้ทุกคน แต่การร่วมกันทำงานของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่จะช่วยธุรกิจ SMEs ได้มากที่สุด และเป็นประโยชน์กับธุรกิจในภาพรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: