ภายใต้การให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ล่าสุดธนาคารกรุงไทยได้ออก 5 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบุคคลและธุรกิจ รวมวงเงิน 9 หมื่นล้านบาท แยกเป็น
มาตรการสินเชื่อรายย่อย 3 มาตรการ ตั้งเป้าหมายช่วยลูกค้าสินเชื่อบุคคลรวม 6 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบด้วย 3 มาตรการได้แก่
1.สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ Home for Cash สินเชื่อกรุงไทยบ้านให้เงิน (Home Easy Cash) วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) จะพักชำระเงินต้นและชำระดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ ขยายระยะเวลาโดยลดอัตราผ่อนชำระ สูงสุด 12 เดือน หรือพักชำระเงินต้น โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน
2. สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ลดการผ่อนชำระค่างวดลง 30% นานสูงสุด 6 เดือน
3. สินเชื่อวงเงินกู้แบบหมุนเวียน (Revolving Loan) ได้แก่ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ปรับเป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ได้นาน 48 งวด หรือตามความสามารถในการชำระหนี้
ทั้งนี้เงื่อนไขมาตรการสำหรับสินเชื่อรายย่อยทั้ง 3 มาตรการ จะต้องเป็นลูกหนี้ที่มีสถานการณ์ชำระหนี้เป็นปกติ หรือ ไม่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วัน
นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทย ยังได้ออก มาตรการฟื้นฟูธุรกิจ 2 มาตรการ ประมาณการความช่วยเหลือรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี เปิดกว้างให้ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
- กรณีลูกค้าเดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท
- กรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท (นับรวมวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่ง)
2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต ในราคาต้นทุนรับโอนบวกค่าธรรมเนียม Carrying Cost 1 % และบวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าที่ลูกค้าชำระมาแล้ว มาตรการนี้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนและการโอนคืนกลับให้ลูกค้า
สำหรับเงื่อนไขมาตรการพักทรัพย์-พักหนี้
: ลูกค้าที่มีความประสงค์โอนทรัพย์สินเพื่อชําระหนี้ ต้องมียอดสินเชื่อธุรกิจคงเหลือกับธนาคาร ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และ ไม่เป็น NPL ณ 31 ธันวาคม 2562 รวมทั้งทรัพย์สินที่โอนต้องเป็นหลักประกันกับธนาคารก่อน 1 มีนาคม 2564
นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้เร่งช่วยเหลือลูกค้าในเชิงรุกทุกช่องทาง นอกจาก 5 มาตรการ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการเสริมสภาพคล่องให้คู่ค้าและพันธมิตรของลูกค้า โดยออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าของสยามพิวรรธน์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME และพันธมิตรทุกกลุ่มสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
ทั้งนี้ที่่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้น 31 มี.ค. 64 มีสินเชื่อที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือตามมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยเป็นลูกค้าบุคคลกว่า 3 หมื่นล้านบาท ลูกค้าธุรกิจและ SME กว่า 9 หมื่นล้านบาท” นายเอกชัย กล่าว.