กกร.ยื่น 3ข้อเสนอรัฐเร่งดำเนินการ กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส4ปีนี้

09 มิ.ย. 2564 | 06:55 น.

คณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมหารือธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเงื่อนไข “มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้”

คณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) ยื่น 3ข้อเสนอรัฐเร่งดำเนินการ  หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นไตรมาส4ปีนี้ ขณะเดียวกันเตรียมหารือธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเงื่อนไข “มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้”และคงคาดการณ์จีดีพีไทยปี 64ขยายตัว 0.5-2.0%

กกร.ยื่น 3ข้อเสนอรัฐเร่งดำเนินการ กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส4ปีนี้

คณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) แถลงผลการประชุมประจำเดือนมิถุนายน 2564 (วันที่ 9มิ.ย.)โดยมี นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯร่วมแถลง โดย นายผยง เปิดเผยว่าที่ประชุมกกร. มีข้อเสนอภาครัฐดำเนินการใน 3ประเด็น ได้แก่      1.เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายและบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่   เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการเร่งออกแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวตามรูปแบบของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน และทยอยขยายขอบเขตไปยังจังหวัด          ท่องเที่ยวอื่นต่อไป ซึ่งหากสำเร็จเชื่อว่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แทนที่จะเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

กกร.ยื่น 3ข้อเสนอรัฐเร่งดำเนินการ กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส4ปีนี้

      2.เพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลัง ซื้อ     ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะ        ช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของ ประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

      3.พิจารณาแนวทางมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ (E-voucher) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยผู้ประกอบการที่จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ให้ผู้บริโภคสามารถนำเงินที่ใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการ มาใช้เพื่อ      ลดหย่อนภาษีเงินได้โดยตรง ซึ่งเชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกและดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น

          สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้นั้น  เนื่องจากกระบวนการต้องใช้เวลา เบื้องต้นจึงมีผู้ประกอบการผ่านการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูกว่า 8,000รายวงเงินกว่า 2หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้มีผู้ประกอบการ 4รายเข้าร่วมมูลค่าประมาณ 1,000ล้านบาท โดยภายใน 2-3สัปดาห์ทางกกร.จะรับสรุปสาเหตุของการเข้าถึงมาตรการ ก่อนที่จะนำเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อพิจารณาปรับเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่น  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการยังมีความเข้าใจสัปสน ซึ่งอาจต้องเร่งสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ  อีกทั้งมาตรการพักทรัพย์พักหนี้นั้น มีความซับซ้อน ขณะที่ผู้ประกอบการยังเป็นห่วงในประเด็นการซื้อทรัพย์คืนในอีก 5ปีข้างหน้า

 “ ทาง กกร. ได้รับทราบประเด็นปัญหาเกี่ยวกับมาตรการทั้งสองจากสมาชิก และกกร. กำลังอยู่ในระหว่างการหารือเพื่อหาแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการและหลักการทั้ง 2 เพื่อนำเสนอกับธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

กกร.ยื่น 3ข้อเสนอรัฐเร่งดำเนินการ กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส4ปีนี้

 

 

นายผยงกล่าวถึง แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยระบุว่า ยังสดใสตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่มีความคืบหน้าด้านการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นเกือบ 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ต่อเนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวขยายตัวได้มากกว่า 10% นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนเกิดวิกฤตค่อนข้างมาก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญให้มูลค่าส่งออกไทยในปีนี้ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี กกร. รวมทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มองว่าต้นทุนค่าระวางเรือที่คาดว่าจะยังในระดับสูงต่อไปตลอดปีนี้ และการขาดแคลนตู้ส่งสินค้า เป็นปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ดังเช่น การอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่ (ความยาว 300 เมตรแต่ไม่เกิน400 เมตร) เข้ามาในท่าเรือแหลมฉบัง ที่ช่วยบรรเทาการขาดแคลนตู้ส่งสินค้าได้ระดับหนึ่งไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องควบคุมการระบาดที่ลุกลามไปสู่ภาคการผลิตให้ได้โดยเร็ว สถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดระลอกล่าสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งเอเชียอาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ซึ่งมีความคืบหน้าด้านการกระจายวัคซีนค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเร่งตัวขึ้นมาก และกระทบไปยังภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขั้นกลางอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ สะท้อนจากดัชนีเครื่องชี้ภาคการผลิต PMI ของประเทศฝั่งเอเชียที่ปรับตัวชะลอลงในเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า โดยผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวสะท้อนว่าผลกระทบจากการระบาดคราวนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าทั้ง 2 ระลอกก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้ามาซ้ำเติมกิจกรรมทางธุรกิจให้แย่ลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าที่สะท้อนว่าได้รับผลกระทบมากกว่า 2 ระลอกก่อนหน้าจากกำลังซื้อที่ลดลง ดังนั้น แรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฉบับล่าสุดในเดือน มิ.ย. (Article IV Consultation) ที่เสนอแนะให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐ และมีความต่อเนื่อง

ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนและนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป การเร่งกระจายวัคซีนในประเทศที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ภาคการผลิตและส่งออกไทยยังคงรักษาการเป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตเช่นนี้ และยังจะสร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวในกรอบ 0.5% ถึง 2.0% ด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 5.0% ถึง 7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

กกร.ยื่น 3ข้อเสนอรัฐเร่งดำเนินการ กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส4ปีนี้