กกร. เร่งประคองกลุ่มสีเหลืองสกัดลูกหนี้ไหลเป็นสีแดง

09 มิ.ย. 2564 | 23:00 น.

กกร. เร่งประคองกลุ่มสีเหลืองสกัดลูกหนี้ไหลเป็นสีแดง-แจงโควิดระลอก 3ซ้ำเติมความเปราะบางสูงขึ้น

กกร. เร่งประคองกลุ่มสีเหลืองสกัดลูกหนี้ไหลเป็นสีแดง-แจงโควิดระลอก 3ซ้ำเติมความเปราะบางสูงขึ้น -คาดใช้เวลา 2-3สัปดาห์หารือธนาคารและผู้ประกอบการเพื่อสรุปปัญหาเสนอธปท.ผ่อนเกณฑ์ “พักทรัพย์พักหนี้”

กกร. เร่งประคองกลุ่มสีเหลืองสกัดลูกหนี้ไหลเป็นสีแดง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยระบุถึงแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ว่า  ภาพรวมยังจำเป็นต้องเร่งประคองลูกหนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอก 3 มีผลกระทบและซ้ำเติมความเปราะบางที่อยู่ในภาวะที่สูงขึ้น  เพราะตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงของการระบาดของโควิดระลอก3  ซึ่งมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมมือกันเร่งประคองและรักษาระดับของลูกหนี้กลุ่มสีเหลืองไม่ให้ไหลเป็นกลุ่มสีแดงมากขึ้น โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาหอการค้าฯ  ตอนนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองทำให้ลูกหนี้ตัวเบาและรักษาการจ้างงานในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ผ่านช่วงนี้ไปได้

“เราจำเป็นต้องเร่งให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถประคองธุรกิจ3-4เดือนข้างหน้าให้ผ่านพ้นไปได้เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาโดยที่ผู้ประกอบการบอบช้ำน้อยที่สุด  จึงเป็นแนวทางที่กำลังเร่งเพื่อให้เข้าถึงสภาพคล่องและแหล่งเงินเร็วที่สุดเพื่อประคองลูกหนี้กลุ่มสีเหลืองไม่ให้ไหลเป็นสีแดง” 

ขณะเดียวกัน กกร.อยู่ระหว่างเร่งหารือระหว่าง 3สถาบันและสมาชิกธนาคารพาณิชย์เพื่อบูรณาการทั้งเงื่อนไขและหลักการ วิธีการเรื่องสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทั้ง 2มาตรการได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ โดยที่ผ่านมา กกร.ได้รับทราบประเด็นปัญหาเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ทั้งจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาหอการค้าฯ  รวมถึงเร่งดำเนินการหารือแต่ละธนาคารพาณิชย์ในการนำประเด็นที่ได้รับจากสะท้อนจากผู้ประกอบการ  โดยเฉพาะปัญหามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ทั้งนี้เพื่อที่จะดูว่ายังมีประเด็นที่จะบูรณาการในมิติใดบ้าง รวมถึงเกณฑ์  เงื่อนไขของทางการและกระบวนการพิจารณาของธนาคาร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3สัปดาห์ข้างหน้า

“ เบื้องต้น มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เป็นลักษณะนำทรัพย์ลดมูลหนี้โดยที่ผู้ประกอบการยังทำกิจการต่อไป  โดยกลุ่มโรงแรมเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งมีสินทรัพย์ก้อนใหญ่ รวมถึงกลุ่มภาคการผลิตด้วย แม้ว่ามาตรการพักทรัพย์พักหนี้ จะมีเวลา 2ปีโดยรวมอายุดำเนินการได้ 5ปี แต่ตอนนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ประชุมกกร. เพราะเป็นโครงการที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องใหม่ ยังมีความเข้าใจที่สัปสน ซึ่งอาจจะต้องเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจในรายละเอียดเพิ่มเติม” 

สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้นั้น  เนื่องจากกระบวนการต้องใช้เวลา เบื้องต้นจึงมีผู้ประกอบการผ่านการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูกว่า 8,000รายวงเงินกว่า 2หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้มีผู้ประกอบการ 4รายเข้าร่วมมูลค่าประมาณ 1,000ล้านบาท

กกร. เร่งประคองกลุ่มสีเหลืองสกัดลูกหนี้ไหลเป็นสีแดง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการพักทรัพย์พักหนี้นั้น  ในส่วนของ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงกรณีที่จะกลับมาซื้อทรัพย์คืนในอีก 3-5ปีข้างหน้า ซึ่งทั้ง 3สถาบันพยายามทำความเข้าใจผู้ประกอบการ โดยอาจจะต้องมีการพิจารณาอนุมัติแต่ละโครงการของลูกหนี้

กกร. เร่งประคองกลุ่มสีเหลืองสกัดลูกหนี้ไหลเป็นสีแดง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯกล่าวว่า มาตรการดังกล่าว เป็นความตั้งใจดีของภาครัฐ แต่หากปล่อยให้ลูกหนี้และธนาคารเจรจากัน อาจต้องใช้เวลา  เพราะในส่วนของลูกหนี้ต้องการให้มูลค่าทรัพย์อยู่ในระดับสูง  ขณะที่ธนาคารจะต้องพิจารณาความด้อยค่าของทรัพย์สินในอนาคตด้วย  รวมถึงเมื่อครบกำหนดผู้ประกอบการจะซื้อคืนหรือนำเงินคืนธนาคารอย่างไร  ดังนั้น การเจรจาต้องใช้เวลา โดย กกร.พยายามหารือในรายละเอียดมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 2-3สัปดาห์น่าจะมีข้อสรุปออกมาได้ และสามารถนำเสนอต่อธปท.เพื่อยืดหยุ่นกฎเกณฑ์เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จได้

ส่วนความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟู)  วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการหลักได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาทแบ่งลักษณะการใช้วงเงินเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะแรกเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเยียวยาระยะที่ 2 เป็นสินเชื่อเมื่อเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นและระยะที่ 3 สำหรับเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ  และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้หรือAsset Warehousing) วงเงิน 100,000 ล้านบาทโดยธปท. เปิดให้สถาบันการเงินยื่นคำขอสินเชื่อเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

          เว็บไซต์ธปท. รายงานความคืบหน้า (เมื่อวันที่ 31พ.ค.2564) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูมียอดอนุมัติจำนวน  20,839ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 8,218ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 2.5ล้านบาทต่อราย  แบ่งตามวงเงินสินเชื่อเดิม เป็นธุรกิจรายใหญ่ จำนวนเงิน 8,888ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42.7% ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 456รายประมราณ 5.5%  สำหรับเอสเอ็มอีได้รับอนุมัติสินเชื่อ 9,189ล้านบาทคิดเป็น 41.1% มีลูกหนี้ที่ได้รับวงเงิน 2,853รายคิดเป็นสัดส่วน 34.7% และไมโครได้รับอนุมัติจำนวน 2,516ล้านบาท คิดเป็น 12.1%มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 4,828รายมีสัดส่วน58.7%

อย่างไรก็ตาม หาก แยกตามประเภทของธุรกิจพบว่า  ธุรกิจพาณิชย์ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 9,115ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 43.7% จำนวนราย 4,330รายสัดส่วน 52.7%    อุตสาหกรรมการผลิต วงเงิน 6,128ล้านบาท สัดส่วน 29.4%จำนวน 1,199รายสัดส่วน 14.5% ภาคบริการ วงเงิน  2,007ล้านบาทสัดส่วน 9.6%จำนวนราย 1,337รายสัดส่วน 16.3%    ภาคก่อสร้าง วงเงิน 1,600 ล้านบาทสัดส่วน 7.7% จำนวน 714รายสัดส่วน  8.7%และสาธารณูปโภควงเงิน818ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 3.9%จำนวน 285รายสัดส่วน 3.5%

          ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูจะครอบคลุมถึงลูกหนี้รายใหม่ ประกอบด้วย  ไมโครเอสเอ็มอี วงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5ล้านบาท, ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีวงเงินสินเชื่อเดิม 5-50ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ วงเงินสินเชื่อเดิม 50-500ล้านบาท