thansettakij
อนุมัติ พรก.เงินกู้ 5 แสนล้าน คลังย้ำใช้เงินอย่างรอบคอบ

อนุมัติ พรก.เงินกู้ 5 แสนล้าน คลังย้ำใช้เงินอย่างรอบคอบ

10 มิ.ย. 2564 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2564 | 05:05 น.

รัฐสภาฯ อนุมัติ พรก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ด้านอาคมแจงเพิ่ม พร้อมปรับปรุงวิธีการทำงาน ย้ำใช้เงินทุกบาทอย่างรอบคอบ ชี้สิ้นปีงบ 64 หนี้สาธารณะไม่เกินเพดาน 60% ต่อจีดีพี

วันนี้ (10 มิ.ย. 64) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติม ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นั้น จะมีการปรับปรุงวิธีการทำงาน โดยเฉพาะแผน 2 และ แผน 3  คือ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ และแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ในปี 2563 ช่วงที่เกิดการกระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรก มีการเยียวยา และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ ทั้ง โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช็อปใช้ ช็อปดีมีคืน เพื่อให้การบริโภคภายในประเทศไม่หยุดชะงัก เพราะรายได้หลักส่วนหนึ่งของประเทศจากภาคการท่องเที่ยวได้หายไปหมด การเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น และยังมีการช่วยเหลือในส่วนลดค่าน้ำค่าไฟ ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจก็ได้ช่วยเหลือผ่านมาตรการรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง ที่ทำไป 2 ระยะ โดยการออกแบบโครงการมุ่งเน้นที่ประชาชน ร้านโซห่วยที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ทำให้ร้านค้าในชุมชนคึกคักและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ลงไปถึงระดับฐานรากมากที่สุด ขณะที่ผู้ประกอบการ เช่น ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะได้ผ่านร้านค้าเหล่านี้

แต่ครั้งนี้ในส่วนของแผน 2 และ แผน 3 จะเน้นไปที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และตัวเล็กมากขึ้น ส่วนข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาฯ ต้องการให้การจ้างงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องนั้น ซึ่งในปีที่ผ่านรัฐบาลได้ทำแล้ว แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะเจอการระบาดรอบ 2 และ รอบ 3 อาจทำให้ลูกจ้างถูกลดชั่วโมงการทำงาน และออกจากงาน ดังนั้นในครั้งนี้จะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เงินในรอบนี้

“ทุกข้อความเห็นและข้อสังเกตุ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ที่ต้องกู้เงิน ในการกู้เงินขอเรียนว่า การกู้ทุกเม็ดเงิน จะทำด้วยความรอบคอบ จะติดตามสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างเหมาะสม และเป็นการบริหารที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญของกระทรวงการคลัง” นายอาคม กล่าว

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติม ในส่วนประเด็นการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่ง พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ได้นำไปใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟู และด้านสาธารณะสุข ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในช่วงเดือนมิถุนายน 63 ซึ่งได้รวมตัวเลขเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว โดยคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยจะติดลบประมาณ -8.3% ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่าจะ -7.7% แต่จากการที่สภาฯ ได้ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบลดลงเหลือ -6.1% ซึ่งเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54% ของจีดีพี โดยเมื่อรวมกับการกู้ชดเชยการขาดดุล และ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทแล้ว จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58% - 59% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินกรอบที่ 60% ต่อจีดีพี  ทั้งนี้ คณะกรรมการการเงินการคลังภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะได้มีการพิจารณาในประเด็นกรอบเพดานที่ 60% ต่อจีดีพี

โดยนายกฤษฎา กล่าวอีกว่า หนี้สาธารณะของไทย เป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงทั้งหมด ซึ่งจะมีแหล่งเงินมาชำระหนี้ที่ชัดเจน คือ กองทุนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2540 โดยขณะนี้เหลือเงินต้น 700,000 ล้านบาท เงินแหล่งที่มาจากการใช้หนี้ จะมีที่มาจากการไปเก็บเงินฝากที่สถาบันการเงินให้มา เพราะฉะนั้นมีการเก็บได้ทุกปีเพื่อนำมาชำระหนี้ ไม่ใช่เป็นการนำงบประมาณไปชำระหนี้  จึงถือเป็นอีกแหล่งเงินหนึ่งที่นำมาชำระหนี้เงินกู้ก้อน 700,000 ล้านบาทที่ชัดเจน อีกส่วนคือหนี้รัฐวิสาหกิจบางประเภทที่มีความสามารถในการชำระหนี้คือได้เอง เช่น ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต  อีกประมาณ 300,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นหนี้ในส่วนตรงนี้ที่ 1 ล้านล้านบาท  เป็นหนี้ที่ไม่เป็นภาระรัฐบาลและต่องบประมาณแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ภายหลังการชี้แจงเพิ่มเติม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการลงมติ พ.ร.ก. กู้เงินเยียวยาโควิด 5 แสนล้านบาท หรือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยเห็นชอบ 270 เสียง ไม่เห็นชอบ 196 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

"อาคม" แจง พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน เหลือไม่พอแก้โควิด

นายกฯ เดือดกลางสภาลั่นออกพรก.กู้เงิน 5 แสนล้าน“ผมไม่ได้โง่”ก่อหนี้เกินก.ม.