ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สนับสนุน ให้เกิดโครงการความร่วมมือพัฒนามาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อพัฒนาระบบนิเวศข้อมูล(dada ecosystem)ในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมทั้งสิ้น 29 แห่ง โดยได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินของตนเองได้สะดวกขึ้น ได้รับบริการในระยะเวลาที่สั้นลงและมีต้นทุนถูกลง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่สะดวกขึ้นและมีต้นทุนถูกลง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดด ข้อมูลที่เกิดจากบริการทางการเงินเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สำคัญของระบบการเงิน แต่ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินยังขาดกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล และมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่ การเรียกใช้ข้อมูลของตนเองจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเพื่อขอใช้บริการกับสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องขอข้อมูลในรูปแบบเอกสารกระดาษ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยังมีส่วนในการจำกัดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้วย
“บริการแรกภายใต้กรอบความร่วมมือข้างต้นที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ คือ การรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน ที่ประชาชนจะสามารถเรียกข้อมูล bank statement จากสถาบันการเงินหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ขอสินเชื่อกับอีกสถาบันการเงินหนึ่งผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดภาระการเดินทางและระยะเวลาในการดำเนินการขอและรับส่งข้อมูลลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินจะสามารถลดต้นทุนการตรวจสอบและประมวลผลด้านเอกสาร รวมถึงลดความเสี่ยงที่เอกสารอาจถูกปลอมแปลงได้อีกด้วย”
นางสาวพีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงินและ นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลนั้นต้องมีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างธนาคาร เช่น มาตรฐานข้อมูลดิจิทัล มาตรการการเชื่อมโยงร่วมกันและมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยของลูกค้า โดยเริ่มนำร่องบริการรับส่งข้อมูลการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงินภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งมีสถาบันการเงินพร้อมให้บริการ 10 แห่ง ซึ่งครอบคลุมกว่า 98% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประชาชนในระบบธนาคารไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
“หลังจากเริ่มนำร่องบริการ bank statementสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ต่อไปหากขยายบริการนิติบุคคลหรือคนที่ไม่ใช่ธนาคารด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างคิด Use Case เฟส2 น่าจะเห็นในปลายปี ส่วนบริการbank statementนั้นจะนำส่งข้อมูลดิจิทัลเมื่อลูกค้าเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอมผ่านการยืนยันตัวตนและจัดเก็บบันทึกไว้เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ธปท.กำหนดเพดานราคาค่าธรรมเนียมออกbank statementดิจิทัลราคาไม่เกิน 75บาทโดยให้แต่ละธนาคารกำหนดอัตราเองเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ดังนั้นต้นทุนในการออกbank statementdจากลดลงจากเดิมที่เคยคิด 200บาท”
ความร่วมมือในการพัฒนาและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงินนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของทุกฝ่าย ที่จะร่วมกันพัฒนาบริการทางการเงินไปสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และ ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของภาคธนาคารในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นต้นแบบที่ขยายไปสู่ความร่วมมือในลักษณะเดียวกันของภาครัฐและภาคเอกชน จนเกิดระบบนิเวศด้านข้อมูลของประเทศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและรวดเร็ว และผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น