Forbes.com หรือฟอร์บสเอเเชีย เปิดเผย การจัดอันดับ 50 มหาศรษฐีไทย ประจำปี 2564 โดยมีรายชื่อตระกูลและอภิมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของไทย ดังนี้
อันดับ 1 พี่น้องเจียรวนนท์
อันดับ 2 เฉลิม อยู่วิทยา
อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี
อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์
อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี
อันดับ 6 ตระกูลโอสถานุเคราะห์
อันดับ 7 สมโภชน์ อาหุนัย
อันดับ 8 ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
อันดับ 9 ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ
อันดับ 10 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ
Forbes.com ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวของไทยหดตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษมากถึงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันในปีนี้ แต่รัฐบาลก็ได้ให้คำมั่นที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมจัดตั้งศูนย์รับวัคซีนโควิดสำหรับชาวต่างชาติภายในเดือนตุลาคม โดยเริ่มที่จังหวัดภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจและภาคการส่งออก ได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 43 นับตั้งแต่มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินครั้งล่าสุดเมื่อ 15 เดือนที่แล้ว ซึ่งมีส่วนในการเพิ่มทรัพย์สินรวมของบุคคลร่ำรวยที่สุดจากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2564 กว่าร้อยละ 20 เป็น 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปีนี้ พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 2.9 พันล้านเหรียญ เป็น 3.02 หมื่นล้านเหรียญ ตามมาด้วย เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกอย่างกระทิงแดง ร่วมกับตระกูลของเขา โดยเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้ รวมมูลค่าสุทธิ 2.45 หมื่นล้านเหรียญ
ด้าน สารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีด้านพลังงาน คือ อีกหนึ่งรายที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 เป็น 8.9 พันล้านเหรียญ และล่าสุดในเดือนเมษายน ได้นำบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำเสนอซื้อหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ราคา 1.7 หมื่นล้านเหรียญเป็นที่เรียบร้อย
จาก 38 รายชื่อที่มีมูลมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น มีเพียง 8 รายเท่านั้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ นำโดยเสถียร เศรษฐสิทธิ์ และ ณัชไมย ถนอมบุญเจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคาราบาว ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ด้วยผลกำไรที่มากที่สุดในรอบปีได้ส่งผลให้ทั้งคู่มีมูลค่าทรัพย์สินส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นรายละมากกว่า 2 เท่า
เช่นเดียวกับความมั่งคั่งของผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพทั้ง 5 รายในทำเนียบที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมไปถึงพงษ์ศักดิ์ วิทยากร หลังจากที่สาธิต วิทยากร บุตรชายได้เข้าซื้อหุ้นในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่มูลค่าเกือบ 600 ล้านเหรียญ
นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีหน้าใหม่อีก 3 รายจาก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ สมชาย รัตนภูมิภิญโญ ผู้ก่อตั้งธุรกิจอาหาร บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย สมหวัง และ ไวยวุฒิ สินเจริญกุล คู่พ่อลูกผู้อยู่เบื้องหลังศรีตรัง บริษัทอุตสาหกรรมยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และอดิศักดิ์ และ นาตยา ตั้งมิตรประชา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน Dohome
ด้าน 1 ใน 3 รายชื่อที่หวนคืนสู่ทำเนียบในปีนี้อีกครั้ง ได้แก่ บัญชา องค์โฆษิต จากการที่บริษัทเคซีอี อีเลคโทรนิคส์ ผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์สำหรับภาคยานยนต์ ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ 6 รายชื่อที่หลุดออกจากทำเนียบ จากการที่เกณฑ์การจัดอันดับได้ปรับจาก 460 ล้านเหรียญในปี 2020 มาอยู่ที่ 737 ล้านเหรียญ อาทิ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา แห่งคิง เพาเวอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว
*การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูลการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง อันดับนี้ต่างจากอันดับอภิมหาเศรษฐีตรงที่มีการรวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนเป็นการคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 มิถุนายน ทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
**การคำนวณทรัพย์สินจากเหรียญสหรัฐฯ มาเป็นสกุลเงินไทย ใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 31.40 บาทต่อเหรียญ ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2564
ที่มา: FORBES THAILAND