หลังรัฐบาลได้ยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการเพิ่มพื้นที่่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (ล็อกดาวน์) จาก 10 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา เป็น 13 จังหวัดโดยเพิ่ม 3 จังหวัดเข้ามาคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยา
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 27 กรกฎาคม ได้อนุมัติวงเงิน 51,042.18 ล้านบาท เพื่อเยียวยาเพิ่มเติมกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเป็นการใช้วงเงินจากกรอบเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 47,548.99 ล้านบาทและจากงบกลางในงบประมาณปี 2564 อีก 3,493.13 ล้านบาท
เพิ่ม 3 จังหวัดล็อกดาวน์
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ครม.ได้อนุมัติวงเงิน 1,522.99 ล้านบาท เพื่อเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนใน 3 จังหวัดล็อกดาวน์คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยา ทำให้กรอบวงเงินในโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจากเดิม 13,504.696 ล้านบาทเป็น 15,027.686 ล้านบาท
พร้อมมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประมาณการจำนวนนายจ้างและผู้ประกันนมาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่า จะขี้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย
ลดภาระผู้ปกครอง
ครม.ยังอนุมัติวงเงิน 23,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน จัดสรรค่าใช้จ่ายให้กับสถานศึกษา เพื่อช่วยจัดการเรียนรู้และลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63
นอกจากนั้นในระดับอุดมศึกษา ทั้งที่เป็นนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลด เป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยที่ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท จะได้ส่วนลด 50% ระหว่าง 50,001 - 100,000 บาท จะได้ส่วนลด 30% และถ้าเกิน 100,000 บาท จะได้ส่วนลด 10% โดยที่ส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกิน 50%
ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน รัฐจะสนับสนุนค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา ในอัตรา 5,000 บาท/คน
“อว. ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์ โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย ซึ่งทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ อว. จะเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอน ของพ.ร.ก.เงินกู้ รวมทั้งจะกำหนดกลไกตรวจสอบการยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคารด้วย” นายอนุชากล่าว
เยียวยาสิทธิ์บัตรทอง
ครม.ยังอนุมัติวงเงิน 13,026.12 ล้านบาทให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 สำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564
มีกลุ่มเป้าหมาย 3,508,060 รายคือ กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด 3,392,800 ราย ผู้ป่วยโควิดที่ได้รับบริการสาธารณสุข 114,500 ราย และผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด 760 ราย
ทั้งนี้ โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสปสช. จะเป็นการช่วยลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวม เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนให้เกิดการบริการตรวจคัดกรองหรือป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว ทั้งยังเป็นหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพสำหรับประชาชนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
เพิ่มเงินดูแลบุตร
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติวงเงิน 3,493.19 ล้านบาทจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน 2,227,029 คน
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง จากนโยบายรัฐบาลในการให้เงินอุดหนุน เลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท ให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งปีงบประมาณ 2564 พม.ได้ดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้มีสิทธิ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 แล้ว 1,966,093 คน ขณะที่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มีสิทธิ์ผู้ได้รับเงินอุดหนุน เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สูงถึง 2,227,029 คน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,700 วันที่ 29 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564