คลัง ดึง 2 แสนล้าน จาก พ.ร.ก.กู้เงิน(เพิ่มเติม) แก้ปัญหาโควิดปี 64

29 ก.ค. 2564 | 09:41 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2564 | 18:38 น.

คลัง ดึงเงินกู้จาก พ.ร.ก. กู้เงิน(เพิ่มเติม) 5 แสนล้าน ใช้แก้ปัญหาโควิดปีนี้ ส่วนที่เหลืออีก 3 แสนล้านกันไว้ใช้ในปี 65 ชี้ไม่ทำให้หนี้สาธารณะปีงบฯ 64 ทะลุเพดาน 60% ต่อจีดีพี ย้ำยังบริหารได้ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน พ.ศ. 2563 โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ค. 64 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้ว วงเงิน 992,802 ล้านบาท คงเหลือที่ยังไม่อนุมัติอีก 7,197 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายแล้ว 782,091 ล้านบาท จากยอดเงินที่ สบน. ได้ทำการกู้เงินแล้วจำนวน 843,514 ล้านบาท ทั้งนี้การเบิกจ่ายตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  จะมีการอนุมัติและเบิกจ่ายได้ทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2564 เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งยังรวมถึงการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่จะมีการกู้เพื่อใช้จ่ายปี64 จำนวน 2 แสนล้านบาท ขณะที่ 3 แสนล้านบาทที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในปี 65

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า การกู้เงินดังกล่าว ยังไม่ทำให้ตัวเลขหนี้สาธาณะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60% จีดีพี ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ได้ยืนยันแล้วว่ายังสามารถบริหารจัดการเงินกู้ให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดได้ ดังนั้นจึงยังไม่ต้องมีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามหากจำเป็น ก็สามารถขยายกรอบเพดานได้

 

“ตัวเลขหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60%ต่อจีดีพี ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะยืนยันแล้วว่ายังสามารถบริหารจัดการการกู้เงินให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดได้ แต่ทั้งนี้หากจำเป็น ก็ยังสามารถขยายกรอบหนี้สาธารณะได้ โดยจะต้องนำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน” น.ส.กุลยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า  ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 โดยมีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 150,000 ล้านบาท จากเดิม 1,647,131.74 ล้านบาท เป็น 1,797,131.74 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 58.88% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 58.56%  ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง