สินเชื่อผู้สูงอายุกร่อย หลักประกันโทรม ฉุดวงเงิน

30 ก.ค. 2564 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 12:06 น.

สินเชื่อผู้สูงอายุ กร่อย เหตุหลักประกันทรุดโทรม ฉุดมูลค่า ส่งผลผู้กู้ได้รับอนุมัติวงเงินน้อย หลังคำนวณราคาอนาคตเป็นราคาปัจจุบัน ธอส.ระบุผลตอบรับกว่า 100 ล้านบาท ยันเดินหน้าต่อ คิดดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี ตลอดสัญญา 25 ปี

การให้สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ โดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Reverse Mortgage) เป็นหนึ่งในมาตรการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ของประเทศในระยะต่อไป  หลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ (Aged Society) มาตั้งแต่ปี 2548

 

จนถึงปัจจุบันปี 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น  1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์

 

 นอกจากนี้ไทยยังถูกคาดการณ์ว่า จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี

 

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากจำนวนประชากรไทยโดยรวมจะเริ่มลดลงแล้ว ไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึง 20% หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 30% ภายในปี 2584 โดยคาดว่า การขยับนี้ใช้เวลาเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นเสียอีก

 

ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564  ได้ลงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.2/2564 เรื่อง Reverse Mortgage ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นธนาคารนำร่องในการให้สินเชื่อดังกล่าว ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อกับผู้กู้ที่เป็นผู้สูงอายุ เช่น ผู้ที่เกษียณอายุจากการทำงาน โดยนำที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองปลอดภาระหนี้มาเป็นหลักประกัน เพื่อเพิ่มเงินได้ในการดำรงชีพ

ทั้งนี้ ผู้กู้จะได้รับเงินสินเชื่อในลักษณะทยอยรับเป็นงวดจนกว่าผู้กู้จะเสียชีวิตหรือครบกำหนด โดยในระหว่างนั้น ผู้กู้ยังคงมีกรรมสิทธิ์และสามารถอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยที่นำมาเป็นหลักประกันดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องชำระคืนสินเชื่อ จนกว่าผู้กู้จะเสียชีวิตหรือครบกำหนดอายุสัญญาสินเชื่อแล้วแต่กรณี

 

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุสำหรับประเทศไทย โดยระบุว่า Reverse Mortgage ในทำได้ยาก เพราะโครงสร้างของปัญหาขึ้นอยู่กับ การบำรุงรักษาทรัพย์สิน หากเทียบกับต่างประเทศ ไม่ว่า ญี่ปุ่นหรืออังกฤษ สภาพที่อยู่อาศัยหรือแม้กระทั่งอาคารใหญ่ที่มีอายุ 150-180 ปี ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพใหม่ แต่สภาพทรัพย์ในเมืองไทยอายุ 50 ปี พบว่า สภาพจะทรุดโทรมแทบไม่เหลือซากเดิม

 

ดังนั้น สภาพทรัพย์ที่มีอยู่จริง จึงไม่สอดคล้องกับหลักการทำ Reverse Mortgage เช่น คุณสมบัติผู้กู้ที่เกษียณอายุ 60 ปี ใช้ที่อยู่อาศัยของตัวเองเป็นหลักประกันในการกู้เงินสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายในช่วงสัญญากู้ อาจจะ 20-25 ปี หรือจนกว่าจะเสียชีวิต ยกตัวอย่าง ผู้กู้เสียชีวิตตอน 85 ปี ซึ่งระหว่าง 20-25 ปีของสัญญากู้เงินนั้น ธนาคารจะทยอยจ่ายเงินสินเชื่อเป็นงวดให้กับผู้กู้

สินเชื่อผู้สูงอายุกร่อย หลักประกันโทรม ฉุดวงเงิน

“การทำ Reverse Mortgage คือ ผู้เกษียณอายุ 60 ปีและเสียชีวิตตอนอายุ 85 ปี ก็นำบ้านมาโอนให้แบงก์ แต่ก่อนจะถึง 25 ปีที่จะเสียชีวิต ทางแบงก์จะให้เงินเป็นรายเดือน 25 ปี ซึ่งปัญหาของประเทศไทยเมื่อถึง 25 ปี แบงก์รับทรัพย์หลักประกันออกมา สภาพทรัพย์จะเสื่อมโทรมมาก ทำให้มูลค่าทรัพย์ด้อยลง”แหล่งข่าวระบุ

 

ดังนั้น กระบวนการปล่อยสินเชื่อแบงก์ต้องคำนวณราคาในอนาคตมาเป็นราคาปัจจุบัน ซึ่งราคาในอนาคตนั้น ต้องบวกความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะมูลค่าทรัพย์ที่จะเสื่อมโทรม ทำให้เงินที่ผู้กู้จะได้รับรายเดือนก็น้อยลง เหล่านี้เป็นผลจากโครงสร้างของบ้านระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก และประเด็นความไม่เข้าใจของประชาชนด้วย

แหล่งข่าวอีกรายระบุว่า การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้น ทางการโฟกัสให้สถาบันการเงินของรัฐหรือ SFIs มีส่วนแบ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย 39.9% หรือ 40% โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เหลืออีกประมาณ 60% เป็นส่วนแบ่งของธนาคารพาณิชย์

 

“ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 2 ธนาคารนำร่องปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุได้แก่ ธอส. และธนาคารออมสิน แต่ผลตอบรับสินเชื่อดังกล่าวยังมีน้อยมาก โดยธอส.ระบุว่า ความคืบหน้าสินเชื่อ อนุมัติวงเงินเพียงประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนออมสินไม่เปิดเผยข้อมูล”แหล่งข่าวกล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,700 วันที่ 29 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564