ฝ่าวิกฤต SMEs ในยุคโควิด-19 ยกระดับมาตรการตรงจุด

01 ส.ค. 2564 | 00:33 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2564 | 08:00 น.

ธปท.ยกระดับออกมาตรการรองรับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก และกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักโดยเริ่มกลับมาฟื้นตัว

ฝ่าวิกฤต SMEs ในยุคโควิด-19

คุณนันทินี กิตติพงศ์พัฒน์ และคุณชนม์คณา นพคุณสมบูรณ์

ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2

ฝ่าวิกฤต SMEs ในยุคโควิด-19 ยกระดับมาตรการตรงจุด

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบก็จะแตกต่างกันไป ทำให้ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น โรงแรม และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร จะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้างแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ต่างกันจึงต้องการความช่วยเหลือในระดับที่ต่างกันตามความรุนแรงของผลกระทบที่ได้รับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาตรการเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกันไป

ฝ่าวิกฤต SMEs ในยุคโควิด-19 ยกระดับมาตรการตรงจุด

ในช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก มาตรการที่ ธปท. ออกในช่วงแรกจึงเป็นมาตรการแบบปูพรมเป็นวงกว้างโดยชะลอการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกรายเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งต่อมาเมื่อสถานการณ์ยังยืดเยื้อและไม่แน่นอน ธปท. จึงได้ปรับมาตรการให้เป็นลักษณะการช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted) มากขึ้น และเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างลูกหนี้ SMEs

นางสดใส ประกอบธุรกิจรถทัวร์นำเที่ยว บริษัท “เที่ยวสนุกไปด้วยกัน” มีกลุ่มลูกค้า คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก และมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแห่งหนึ่งประมาณ 80 ล้านบาท

1) ในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 ในเดือน เม.ย. 2563 มีการสั่งปิดประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ โดยนักท่องเที่ยวต่างพากันยกเลิกการจองทัวร์ของบริษัท “เที่ยวสนุกไปด้วยกัน” ทำให้บริษัทไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงมีรายจ่าย เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ในขณะนั้น ธปท. เล็งเห็นว่าผลกระทบของโควิด-19 รุนแรงและกระทบไปยังผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แบบปูพรม เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อช่วยพยุงผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ และประคับประคองเศรษฐกิจ โดยการออกมาตรการชะลอการชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน (เม.ย. - ต.ค. 2563) ให้แก่ลูกหนี้ SMEs ทุกรายที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ทำให้นางสดใสได้รับการพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติจากธนาคารทันที

2) ในช่วงเดือน ต.ค. 2563 แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะผ่อนคลายลง นางสดใสพยายามปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจ โดยหันมาจับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวในประเทศแทน แต่บริษัท “เที่ยวสนุกไปด้วยกัน” ยังคงประสบปัญหาขาดรายได้หลายเดือนติดต่อกัน เนื่องจากไม่มีลูกค้าจองซื้อทัวร์เข้ามา เพราะยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาด จึงเลือกที่จะไม่เดินทางท่องเที่ยว ด้วยสถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอนต่อเนื่อง

ธปท. จึงได้ออกมาตรการให้สถาบันการเงินดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย โดยหากสถาบันการเงินไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับของลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทได้ ก็ให้สถาบันการเงินพิจารณาชะลอการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ได้จนถึง 30 มิ.ย. 2564โดยนางสดใสได้เข้าไปเจรจากับธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารไม่สามารถประเมินรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตได้ เนื่องจากการระบาดอย่างต่อเนื่องและยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจึงพิจารณาพักชำระหนี้ให้กับนางสดใส

3) ในปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน และมาตรการของภาครัฐในการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลกระทบต่อบริษัท “เที่ยวสนุกไปด้วยกัน” อย่างหนัก โดยบริษัทไม่มีรายได้เข้ามา ขณะที่นางสดใสยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทอยู่ ธปท. จึงได้ (1) ขยายเวลามาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งสถาบันการเงินยังไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดของลูกหนี้ได้ และ (2) ขยายขอบเขตของลูกหนี้ SMEs ให้เป็นไปตามนิยามที่แต่ละสถาบันการเงินใช้อยู่ในปัจจุบัน (จากเดิมเฉพาะที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท) ทำให้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดยนอกเหนือจากนางสดใสที่ธนาคารสามารถพิจารณาพักชำระหนี้ได้ ก็ยังครอบคลุมไปถึงลูกหนี้ SMEs รายอื่นที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่า มาตรการที่ ธปท. เลือกใช้ในช่วงแรกของการระบาด จะมีลักษณะเป็นวงกว้างแบบปูพรม เพื่อรับมือกับผลกระทบที่รุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาเมื่อสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ธปท. จึงขยายและปรับมาตรการมาเป็นลักษณะที่ให้ความช่วยเหลือแบบตรงจุด (Targeted) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ พบว่าลักษณะของการดำเนินนโยบายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

อย่างไรก็ดี มาตรการชะลอการชำระหนี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท. ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการดังกล่าว ก็ยังมีมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาหนี้เดิมที่ ธปท. จูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย สำหรับ SMEs ที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง เช่น ธุรกิจการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมการผลิต ธปท. มี “โครงการสินเชื่อฟื้นฟู” ที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อที่มีหลักประกัน ไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินหรือถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน (fire sale) และมีโอกาสกลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายลง