นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ( TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะราคาหุ้นเทคโนโลยี ปรับตัวลดลงจนทำให้มูลค่าหุ้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ในรอบกว่า 10 ปี เพราะได้รับแรงกดดันอย่างรุนแรง หลังทางการจีนใช้มาตรการที่เข้มงวดกับหุ้นกลุ่มสถาบันการศึกษาจนถึงขั้นอาจจะถอดหุ้นออกจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
“ตลาดหุ้นจีนถูกเทขายอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา รับข่าวทางการจีนกำลังพิจารณาให้สถาบันกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม มาตรการดังกล่าว อาจนำไปสู่การถอดถอนหุ้นกลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งหมดออกจากตลาดหลักทรัพย์”นายคมศรกล่าว
มาตรการดังกล่าว นับว่ามีความรุนแรงมาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่ทางการจีนมักจะสั่งปรับเงินเท่านั้น เช่น กรณี Alibaba ที่พยายามผูกขาดตลาด หรือสั่งให้ถอด Didi ออกจาก App Store หลังพบว่า มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีถูกเทขายอย่างหนัก เพราะนักลงทุนมองว่า หุ้นเทคโนโลยีจีนอาจจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถคาดการณ์มาตรการควบคุมกิจการที่อาจออกมาเพิ่มเติมได้ แต่เมื่อพิจารณา มูลค่าหุ้นเทคโนโลยีจีน (Valuation) พบว่า อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นล่วงหน้า (Forward P/E) ของหุ้นเทคโนโลยีจีน ในดัชนี CSI300 ลดลงมาเทรดที่ระดับต่ำกว่าของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ใน ดัชนี S&P 500 โดยเทรดที่ระดับต่ำกว่าถึง 5% ซึ่งชี้ว่าหุ้นเทคโนโลจีนได้ปรับลดลงรับข่าวดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังเป็นหนึ่งในกลุ่มที่น่าสนใจลงทุนในช่วงที่เหลือของปี เหมือนกับหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ เพราะทั้งสองกลุ่มเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูงและไม่ผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีโอกาสปรับขึ้นได้จำกัด และมีความผันผวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากถูกกดดันจากนโนยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด )
แม้นักลงทุนจะเริ่มคลายความกังวลเรื่องเฟด ส่งสัญญาณลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 เพราะ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า กลับมาแพร่ระบาดทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศที่มีความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนไปมากแล้วอย่างอังกฤษ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอย่างการจ้างงานในสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่า เฟด จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป จนทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง แต่ในระยะยาวประเมินว่า ความกังวลเรื่องเฟด ลด QE และขึ้นดอกเบี้ยจะกลับมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นน่าจะกลับมาให้น้ำหนักถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด จะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่น่าจะควบคุมได้ โดยในอังกฤษ มีการประกาศยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมส่วนใหญ่ไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. (Freedom Day) กลับเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากจุดสูงสุดในปีนี้ที่ราว 5 หมื่นรายต่อวันในช่วงกลางเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ราว 2.5 หมื่นรายในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นสัญญาณบวกที่ชี้ว่า แผนการเปิดประเทศในกลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนไปมากแล้วยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามแผน
2.การจ้างงานในสหรัฐฯ จะกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 โดยก่อนหน้านี้ตัวเลขการจ้างงานรายเดือนในสหรัฐฯ ดูค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากถูกกดดันจากนโยบายการจ่ายเงินสวัสดิการพิเศษ ซึ่งจ่ายให้กับผู้ว่างงานในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้ว่างงานจำนวนมากยังไม่กลับมาทำงาน อย่างไรก็ดี สวัสดิการพิเศษดังกล่าวจะทยอยหมดอายุลงตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะทำให้ตัวเลขการจ้างงานกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 3
3.คณะกรรมการเฟดหลายท่านเริ่มแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านในสหรัฐฯ และเริ่มมีการเรียกร้องให้ Fed ยกเลิกการผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยเร็ว