บีบลดค่าทวงถามหนี้ หวั่นผลักภาระลูกหนี้ดี

06 มิ.ย. 2564 | 00:07 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2564 | 21:46 น.

เอกชนวอนรัฐ ชั่งนํ้าหนัก บีบลดค่าทวงถามหนี้เหลือ 100 บาท หวั่นผลักภาระให้ลูกหนี้ดี ขอลูกหนี้รายไม่ไหวเข้ามาเจรจา พร้อมยกทั้งค่าปรับ ดอกเบี้ยผิดนัด เหตุตามตัวยาก แถมค้างชำระหนี้ไม่นาน คิดค่าติดตามไม่แพง 

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปลายปี2562  แต่จนถึงปัจจุบันคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีหนังสือเวียนให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อคิดค่าทวงถามหนี้ได้งวดละ 100 บาท แต่ผู้ประกอบการบางแห่งที่จ้างบริษัทภายนอก (เอาต์ซอร์ส) ยังคิดค่าทวงถามหนี้ค่อนข้างสูง และพบว่า มีคำร้องฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินธปท.ปี 2562 ถึง 4,797 เรื่องและ 3,970 เรื่องในปี 2563 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังผลักดันต่อไป 

 

สถิติคำร้องดังกล่าว สะท้อนการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ตามอำเภอใจและแพงเกินสมควร โดยเฉพาะค่าออกหรือลงพื้นที่, การเก็บค่าทวงถามหนี้แบบไม่มีลิมิตจะเก็บกี่งวดก็ได้,ค่าทวงถามหนี้บางครั้งสูงกว่าค่างวดที่ค้างชำระ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเช่าซื้อรายใหญ่เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การว่าจ้างเอาต์ซอร์สส่วนใหญ่จะคิดค่าทวงถามและค่าติดตามยึดเป็นระดับตามความยากง่ายและระยะเวลาค้างชำระ หากค้างชำระใหม่จะคิดไม่แพง 200-321 บาทต่องวด ซึ่งที่ผ่านมาทั้งระบบได้ลดค่าธรรมเนียมลงมาแล้วคือ กระบวนติดตามยึด หากใช้พนักงานภายในต้นทุนก็สูงและมีข้อจำกัด จึงต้องใช้เอาต์ซอร์สแทน

 

“ธุรกิจเช่าซื้ออยู่ในระบบมานานและปรับเกณฑ์ตามทางการกำหนดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราต้องรักษาสมดุลระหว่างบริหารหนี้กับผู้ฝากเงินด้วย ถ้าคนดีเดินเข้ามาเจรจา คนทำธุรกิจไม่ใจร้าย ซึ่งระยะหลังทั้งค่าปรับ ดอกเบี้ยผิดนัดก็ยอมยกให้ลูกหนี้ ขอเพียงติดต่อเข้ามา แต่ต่อไป หากมีการลดค่าทวงถามให้ลูกหนี้ผิดนัด อนาคตลูกหนี้ดีก็จะต้องซื้อราคาแพง จึงอยากให้รัฐชั่งนํ้าหนัก เพราะต้นทุนลดลงมาระดับหนึ่งแล้ว จากที่ทางการทบทวนมาต่อเนื่อง แต่รายที่ค้างซํ้าซ้อนต้องดูอย่างสมเหตุสมผล ช่วงนี้งานอายัดและยึดก็น้อยลง เพราะธนาคารหลายแห่งช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว”

 

ค่าทวงถามหนี้แบงก์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในกระบวนการทวงถามหนี้ ซึ่งครอบคลุมค่าธรรมเนียมศาลต่างๆนั้น พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินส่วนใหญ่เริ่มใช้อัตราค่าทวงถามหนี้ใหม่ เช่น ธนาคาร ไทยพาณิชย์ คิดค่าใช้จ่ายติดตามทวงถามหนี้ กรณีที่ยังไม่บอกเลิกสัญญาที่ค้างค่างวด 321 บาท ถ้าค้างติดต่อกัน 3 งวด คิด 535 บาท

 

ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา  จะคิดค่าติดตามทวงถามหนี้ หากค้าง  1 งวด 200 บาทต่อสัญญา และค้าง 2 งวด งวดที่สอง 220-300 บาท ต่อสัญญา ส่วนค่าใช้จ่ายรับรถคืน สำหรับรถยนต์คิด 1,500 บาทต่อคัน(น้อยกว่าหรือเท่ากับ 200 กิโลเมตร) และ 2,500บาทต่อคัน (มากกว่า 500 กิโลเมตร) ส่วนรถบรรทุกและรถที่มีใบอนุญาตประกอบการคิด 15,000 บาท

 

ส่วนธนาคาร ธนชาต ค่าติดตามเร่งรัดหนี้สินและฟ้องคดี สำหรับสัญญาก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 แบ่งเป็น ออกหนังสือเตือน 321 บาท,บอกเลิกสัญญา 1,070 บาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถ 5,000-15,000 บาท ขณะที่บริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย กรณีค้างค่างวด 300 บาท ค่าเคลื่อนย้ายรถ 200 บาท การตรวจหลักประกันและไม่พบหลักประกัน 300 บาท ธนาคาร ทิสโก้  ค้างชำระงวดละ 321 บาท ค่าเร่งรัดติดตามโดยพนักงานหรือตัวแทนที่มอบหมาย 500-6,000 บาท กรณียึดรถคิดตามจำนวนงวดที่ค้าง 321 บาท ค่าติดตามปิดบัญชีโดยพนักงานเร่งรัดหนี้ 500-5,000 บาท

 

ธนาคารทิสโก้ คิดค่าเร่งรัดหนี้และฟ้องคดีกรณีที่ค้างชำระ งวดละ 321 บาท ค่าเร่งรัดติดตามโดยพนักงานหรือตัวแทน 500-6,000 บาท กรณียึดรถหรือรับรถคืนหรือปิดบัญชี 321 บาทต่องวด,ค่าติดตามปิดบัญชีโดยพนักงานเร่งรัดหนี้ 500-5,000 บาทต่อสัญญา และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ค้าง 1 งวดคิด 214 บาท ค้าง 2 งวดคิด 321 บาท ค้าง 3 งวดคิด 535 บาท กรณีค้าง 3 งวดสำหรับรถบรรทุกและรถยนต์ตามพรบ.การขน คิด 1,070 บาท

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564