“ทรีนีตี้” ให้กรอบแนวรับดัชนีหุ้นไทยเดือน ส.ค.ที่ระดับ 1,480-1,500 จุด

02 ส.ค. 2564 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2564 | 13:44 น.

“ทรีนีตี้” ให้กรอบแนวรับดัชนีหุ้นเดือน ส.ค.ที่ระดับ 1,480-1,500 จุด มองขยายเวลา-เพิ่มจำนวนจังหวัดล็อกดาวน์ กดจีดีพี-กำไร บจ. ชี้นักลงทุนรายย่อยเริ่มมีสภาพคล่องลดลงและภาคการผลิตทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว คัด 7 กลุ่มลงทุนที่ยังน่าสนใจ

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน ส.ค.2564 ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ Covid-19  ที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้น ล่าสุด ศบค.ประกาศขยายเวลาในการล็อกดาวน์ไปจนถึงวันที่ 18 ส.ค. เป็นอย่างน้อย และเพิ่มจังหวัดจาก 13 เป็น 29 จังหวัด ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะเห็นการปรับลดประมาณการจีดีพี รวมถึงลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลงได้อีก

 

นอกจากนี้การล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อได้ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับตัวลดลง สะท้อนผ่านปริมาณเงินในระบบหรือ M2 ที่ขยายตัวน้อยลงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไปในตลาดหุ้นไทยเริ่มอยู่ในระดับจำกัด และทำให้วอลุ่มการซื้อขายโดยรวมเบาบางลงไปด้วย

 

นายณัฐชาต กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในภาวะแบบนี้ ทาง ทรีนีตี้ แนะนำว่า สำหรับพอร์ตที่ทยอยสะสมหุ้นมาก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนีต่ำกว่า 1,550 จุดลงมา มองว่าสามารถถือครองหุ้นไว้ก่อนได้  ขณะที่นักลงทุนที่ต้องการเข้าสะสมหุ้นครั้งใหม่ อาจรอจังหวะดัชนีหุ้นที่มีการย่อตัวแถวบริเวณแนวรับประจำเดือนนี้ที่ให้ไว้ที่ 1,480-1,500 จุด น่าจะเป็นระดับการเข้าลงทุนที่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นระดับที่ Valuation ต่ำและมีการซื้อขายที่ระดับ Forward PE 15.5 เท่า เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 17.2 เท่า

 

 

“ทรีนีตี้” ให้กรอบแนวรับดัชนีหุ้นไทยเดือน ส.ค.ที่ระดับ 1,480-1,500 จุด

 ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศที่จะเข้ามามีผลต่อการลงทุนในเดือน ส.ค.คือ ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอให้เห็น นำโดยประเทศจีนที่รายงานตัวเลข PMI ชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ Covid-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง และปัญหาคอขวดทางฝั่งอุปทาน ด้วยเหตุนี้ จึงประเมินว่าสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของเราบางประเภทที่อยู่ใน Supply chain ของภาคการผลิตเหล่านี้อาจเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงถัดไป ในทางกลับกันสินค้ากลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรมีแนวโน้มจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จากพฤติกรรมการ WFH ที่กลับมามากขึ้น            

สำหรับธีมการลงทุนที่น่าสนใจ เดือน ส.ค. มีทั้งหมด 7 กลุ่มดังนี้ 1. กลุ่มสินค้าส่งออกของไทยจำพวกอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ได้ประโยชน์จากพฤติกรรม WFH ได้แก่ PM, SUN, XO 2.กลุ่ม Logistics ที่ยังคงมี Valuation ถูก ได้แก่ NCL, WICE 3.กลุ่มเครื่องดื่มที่มียอดส่งออกช่วยหนุนการเติบโตและมี Upside จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้แก่ ICHI, SAPPE 4.กลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ Laggard และยังคงมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ดี ได้แก่ SFLEX, SFT, UTP 5. กลุ่มการแพทย์ที่ได้อานิสงส์ทางอ้อมจาก Covid-19 ที่รุนแรงต่อเนื่องได้แก่ BDMS, CHG 6.กลุ่มยาและอาหารเสริมที่ได้ประโยชน์จากการที่คนหันมาตระหนักกับสุขภาพมากขึ้น ได้แก่ IP, MEGA และ7.กลุ่ม Commodities ต้นน้ำ ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อยู่สูงต่อไป ได้แก่ PTTEP