นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19ยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง จึงอยากให้ผู้เอาประกันภัยสบายใจ โดยทุกบริษัทประกันชีวิตพร้อมและต้องการดูแลผู้เอาประกันของแต่ละบริษัทอย่างดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้ขยายความคุ้มครองบริการรักษาพยาบาล ณ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจนอกสถานพยาบาล (Hospital) โรงพยาบาลสนาม และล่าสุดรวมถึงการอนุโลมให้ความคุ้มครองไปยัง Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 ของ คปภ. ลงวันที่ 29 กรกฏาคม 2564 ซึ่งเงื่อนไขจะเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทประกันชีวิตกำหนด เพื่อให้แบบประกันชีวิตสามารถให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยทุกบริษัทให้ความคุ้มครองผู้ป่วยนอก(OPD)ตามความจำเป็นทางการแพทย์ที่จ่ายจริง ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรมและชดเชยรายได้ด้วยตามประกาศของคปภ. เบื้องต้นจ่ายบนผลประโยชน์ผู้ป่วยนอก (OPD)ก่อน กรณีมีผลประโยชน์ผู้ป่วยในด้วย เมื่อผลประโยชน์ผู้ป่วยนอกเต็มก็สามารถใช้ผลประโยชน์ของผู้ป่วยในตามกรมธรรม์ทั้งค่ารักษาพยายาลและค่าชดเชยซึ่ง Home Isolation เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.2564 และในส่วนของ Community Isolation เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ 24ก.ค.2564
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการระบาดของโควิดยังคงอยู่ บริษัทประกันชีวิตก็ไม่แปลกใจถ้าจะมียอดเคลมประกันภัยโควิดเพิ่มสูงขึ้น เพราะความคุ้มครองด้านสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตให้ความคุ้มครองผู้ป่วยโควิดอยู่แล้ว โดยไม่ได้มีการแยกขายประกันภัยโควิดส่วนใหญ่บริษัทประกันชีวิตจะขายประกันสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งมีอัตราเติบโต 7.38% แต่ครอบคลุมภัยโควิดอยู่ด้วยซึ่งเป็นความคุ้มครองส่วนควม ซึ่งทุกบริษัทประกันชีวิตพร้อมจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่
“ ตอนนี้สถานการณ์โควิดยังไม่จบ แต่อยากให้ความสบายใจว่า ความคุ้มครองสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตให้ความคุ้มครองเต็มที่ ขอให้ผู้เอาประกันภัยสบายใจ เพราะเป็นอาชีพของเรา ผ่านมาขยายความคุ้มครองเตียงสนาม Hospital และHome Isolation และหลายบริษัทยอมปรับระยะเวลารอคอบเป็น 14วันซึ่งปรับแบบประกันให้ตอบโจทย์ ส่วนแบบประกันใหม่ๆ หลายบริษัทจะตอบสนองความจำเป็นพยายามจะทยอยออกมาเรื่อยๆ”
นายสาระ กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งหลังของปี 2564 โดยระบุว่า ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตยังคงคาดการณ์จะเติบโตด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000 – 610,000 ล้านบาท หรือเติบโต – 1 ถึง +1 %ซึ่งเป็นการคาดการณ์แบบระมัดระวัง (Conservative) เนื่องจากทิศทางของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการคาดการณ์ครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัว 1.5 - 2.5% ซึ่งอยู่ในระดับฟื้นตัวช้า (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น พร้อมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนจึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวมีความซับซ้อนระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนาความคุ้มครองด้านสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI)อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร(ทั้งระบบ online และ off line) เช่น telemedicine, บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน(SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน รวมถึงเพราะเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่สำคัญที่เสริมสร้างวินัยทางการออมของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุ ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมประกันชีวิตไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถตอบโจทย์เพื่อวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ในหลักการกรมธรรม์บำบาญนั้น อยากให้ทุนประกันไม่สูง เพื่อ ตอบสนองความเป็นจริงของการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ไม่ว่าอายุ 55ปี 60ปี 65ปีแต่มีเงินออมใช้เป็นรายเดือนอย่างน้อย 50% ซึ่งต้องหารือบริษัทสมาชิก คปภ.และกรมสรรพากร
ทั้งนี้ภาคธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความมุ่งมั่นเพื่อตอบสนองความต้องการ ตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย มีการพัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย ตลอดจนมีการพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัลและการบริการผ่านระบบออนไลน์ มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบดิจิทัล (Digital Face to Face) และ มีการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความรู้ความสามารถรวมถึงการบริการที่เป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงแนวทางและรูปแบบการสอบออนไลน์ (E-Exam) ที่เหมาะสม มีความโปร่งใสและรัดกุม ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ธุรกิจประกันชีวิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ และมีความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ผลงาน 6 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 294,896.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.13% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 83,745.52 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 9.88% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 211,151.05 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น0.68% และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 81%