อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากสถานการณ์การระบาดโควิด-19ยังคงเลวร้ายต่อเนื่อง และ เงินดอลลาร์มีโมเมนตัมขาขึ้น ซึ่งอาจจะหนุนด้วยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้
อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงแรงซื้อดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งปิดความเสี่ยงเนื่องจากกังวลว่า เงินบาทอาจจะอ่อนค่าเร็วและแรง
เรามองว่า ในระยะสั้น อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากสถานการณ์การระบาดยังคงเลวร้ายต่อเนื่อง และ เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นอยู่ ซึ่งอาจจะหนุนด้วยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ในขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะ ยุโรป อาจชะลอตัวลง จากปัญหาการระบาดของ COVID-19
นอกจากนี้ เรายังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ ทำให้ ค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งก็อาจจะต้องรอในช่วงต้นเดือนกันยายน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.35 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง จากแรงหนุนของรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ต่างออกมาดีกว่าคาด ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายความกังวลปัญหาการระบาดของเดลต้า หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุด ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 3.84 แสนราย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดล้วนมีความหวังว่า รายงานข้อมูลตลาดแรงงานในวันนี้ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งทั้งผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาดและความกังวลต่อปัญหาการระบาดเดลต้าที่ลดลง ก็หนุนให้ ดัชนี Dowjones พลิกกลับมาปิดบวก +0.78% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้นราว +0.60% ขณะเดียวกัน หุ้นเทคฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับต่ำต่อไปและผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯก็ยังคงสดใส หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.78%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.38% นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังรายงานผลปะกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงออกมาดีต่อเนื่อง SAP +2.19%, Infineon +2.02%, Adyen +1.57% ขณะเดียวกันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ได้หนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มการบินและกลุ่มธนาคาร Airbus +1.92%, Safran +1.90%, Allianz +1.67%, ING +1.20%
ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบอนด์เริ่มทยอยขายทำกำไรการถือบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หลังตลาดการเงินโดยรวมก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดคิวอีได้ในปีนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นตามคาด ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 4bps สู่ระดับ 1.22% ซึ่งก็ยังคงเป็นระดับที่ต่ำนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าเฟดที่ออกมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวด อย่าง การทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงช่วยพยุงให้ เงินดอลลาร์สามารถทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้ว่าตลาดจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.30 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.183 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 109.8 จุด
ขณะที่ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) กลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.393 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และมองว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดอาจมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่ง BOE ก็พร้อมจะลดการอัดฉีดสภาพคล่องในอนาคต
สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยการจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่บ้าง แต่โดยรวม ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกรกฎาคม จะเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 5.7% นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซนเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น กดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดย ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก็มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ที่ระดับ 4.00% ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มดีขึ้น หลังเกิด Natural Herd Immunity แต่ก็แลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเช้าวันนี้ (6 ส.ค.) เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี (นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ส.ค. 2561 เป็นต้นมา) และอ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางสัญญาณเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ (ซึ่งตามรายงานล่าสุด มีจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวสูงกว่า 21,000 ราย) ที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และต่อเนื่องในปีหน้า
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ก็มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ที่สะท้อนสัญญาณฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ขณะที่กระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการเริ่มชะลอมาตรการ QE ของเฟดยังคงมีแรงหนุนจากการแสดงความคิดเห็นจากนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ว่าการของเฟด ที่ประเมินว่า การลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ของมาตรการ QE ควรเริ่มขึ้นในเดือนต.ค. เนื่องจากผู้ว่าการของเฟดท่านนี้ มองว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องใน 1-3 เดือนหลังจากนี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยวันนี้ที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนก.ค.