ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจับตา 6ปัจจัยหลัก “สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ คืบหน้าในการกระจายวัคซีน -การเมืองภายในประเทศ -ผลประกอบการไตรมาส 2/64 ของบจ. -ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ จีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตญี่ปุ่น”
ธนาคารกสิกรไทยมองสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 9-13สิงหาคม 2564 กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออกเดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนก.ค. ประกอบด้วย การส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และการปล่อยกู้สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน เมื่อวันศุกร์ (6 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ก.ค.)
ด้านสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ตลาดกังวลต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 10% ส่วนระยะสั้น(ส.ค.-ก.ย.54) เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอ่อนค่า คาดว่ามีโอกาสแตะแตะ 33.40บาทในสัปดาห์หน้า เพราะปัจจัยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจไทย , ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่กลับมาทำให้รายได้ไม่กลับมา โอกาสไทยจะขาดดุบบัญชีเดินสะพัดทั้งปีนี้ ซึ่งต้องจับตาภาคการส่งออกว่าจะโดนผลกระทบ หรือไม่ ด้วยปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นความกังวลและอาจเห็นเงินไหลออก ความน่าสนใจในเงินบาทลดลง ประกอบคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ส่งสัญญาณในการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจจะเกิดเดือนกันยายน ซึ่งต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมและกันยายนด้วย
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย จำกัด มองสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 9-13 ส.ค.2564 ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน ประเด็นการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/64 ของบจ. ส่วน ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค.ของญี่ปุ่น ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค
โดยดัชนี SET (วันศุกร์ที่ 6ส.ค.)ปิดที่ระดับ 1,521.72 จุด ลดลง 0.01% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 73,390.55 ล้านบาท ลดลง 7.31% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.03% มาปิดที่ 510.48 จุด