ยังต้องติดตามต่อกับกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงกดดันการลงทุนและความเชื่อมั่น
ในอดีตที่ผ่านมา แม้จะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบ ทั้งสงครามการค้าและการเมือง ทำให้นักลงทุนย้ายจากสินทรัพย์เสี่ยง เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้แทน
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 76,262.18 ล้านบาท แต่เข้าซื้อสุทธิ 73,437 ล้านบาทในตลาดตราสารหนี้
ขณะที่สถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรกพบว่า ปี 2563 ขายสุทธิมากที่สุดที่ 216,645.84 ล้านบาท และมีเพียงปี 2562 เท่านั้นที่ซื้อสุทธิ 40,649.20 ล้านบาท แต่ทั้งปี 2562 ขายสุทธิ 45,244.85 ล้านบาท
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยซื้อสุทธิทุกปี ยกเว้นปี 2563 ที่ขายสุทธิ 108,460 ล้านบาท
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติช่วงนี้ ยังยากที่จะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรง และยังไม่สามารถควบคุมได้ แม้จะใช้มาตรการคุมเข้มสูงสุดก็ตาม ทำให้กระทบภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้มองว่า มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทยในไตรมาส 4 แต่ต้องมีการคลายล็อกดาวน์การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนวัคซีน แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องเร่งฉีดให้ได้ตามแผน 10 ล้านรายต่อเดือน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องทำเชิงรุก รวดเร็ว และใช้เม็ดเงินที่สูง
“เงินทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นไทยในช่วงนี้ เป็นเหมือนกันกับประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ เพราะอัตราการฉีดวัคซีนยังน้อยมาก และผลกระทบรอบนี้ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งตลาดเกิดใหม่ยังพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศและท่องเที่ยว ทำให้ยังไม่ฟื้น และในระยะสั้นยังคงไม่ไหลกลับเข้ามา”นายไพบูลย์กล่าว
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาขายสุทธิอีกครั้งในช่วงที่เริ่มมีการระบาดโควิด-19 หนักระลอกใหม่ ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ตามแผน แต่เชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาได้อีกครั้งในไตรมาส 4 จากการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น เพื่อฟื้นการบริโภค และท่องเที่ยวในประเทศ, ภาคการส่งออกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแรงงานฟื้นตัวได้ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จะทำให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า กระแสเงินทุนจากนักลงทุนเริ่มไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 หลังจากต้นปี ยังเป็นสถานะขายสุทธิ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ และเงินเฟ้อปรับขึ้น
อีกทั้งเศรษฐกิจเปิดได้ปกติ แต่เมื่อเทียบกับบอนด์ยีลด์ไทยที่ปรับขึ้น และเงินเฟ้อไม่ได้ขยับตาม ทำให้บอนด์ยีลด์ที่แท้จริงของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าและน่าสนใจกว่าสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้ามาในสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง
ทั้งนี้ แนวโน้มกระแสเงินทุนต่างชาติหลังจากนี้ ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่า อาจจะไม่ไหลกลับเข้ามามาก ไม่ไหลออกแรง และเป็นการลงทุนระยะยาว
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งต่อไปว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะการประชุมที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงแตกของคณะกรรมการ รวมถึงมีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ซึ่งต้องติดตามและประเมินเป็นระยะๆ
บล.เอเซีย พลัส จำกัดระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ในไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะนำไปสู่มาตรการคุมเข้มเพิ่มเติม ถือเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้น ซึ่งพบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว สะท้อนจากข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขผู้ติดเชื้อกับมูลค่าซื้อขายหุ้นไทยของต่างชาติ
ขณะเดียวกัน หากมีการล็อกดาวน์ 1-2 เดือน จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นไปทำจุดสูงสุดได้ในเดือนพฤศจิกายน-ตุลาคม 2564 กดดันให้กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นต่อเนื่องได้เช่นกัน
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564