ชมโปะ ประกันภัย เปิดแผนฝ่าวิกฤติโควิด-19 มั่นใจเบี้ยประกันภัยปี 2564 เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังครึ่งแรกของปีเติบโตถึง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ครองใจรายใหญ่ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักอยู่หมัด มองครึ่งหลังปีนี้ตลาดในไทยยังทรงตัว หลังโควิด-19 ยืดเยื้อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ฉุดกำลังซื้อรายย่อย ปรับแผนธุรกิจรุกรายใหญ่ทดแทน จากเดิมเร่งเครื่องรุกตลาดรายย่อยด้วยประกันการเดินทาง สบช่องเบนเข็มไปประกันสุขภาพ พร้อมปรับตัวก้าวข้ามความท้าทายในยุคดิจิทัล ชูกลยุทธ์ใช้ Data เป็นจุดแข็งในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อเข้าถึงคนไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ปรัชญาการดูแลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่น เพื่อความสุขในทุกรายละเอียดการใช้ชีวิตของทุกคน
ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SOMPO เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2564 น่าจะยังทรงตัว ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว และกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดรายย่อย ขณะที่ตลาดรายใหญ่หรือลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของซมโปะเริ่มมีทิศทางดีขึ้นตามการส่งออกตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้เบี้ยประกันภัยของซมโปะยังเติบโตได้ดี คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะต้องเติบโตกว่าตลาดประกันภัยในปีนี้ หลังจากที่ในครึ่งแรกของปี 2564 มีอัตราการเติบโต 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563
“สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าทุกบริษัทต่างเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยจะเห็นได้ว่าตลาดประกันภัยส่วนใหญ่จะมุ่งไปในแนวทางที่คล้าย ๆ กัน คือ Personal safety and health แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงแม้จะเห็นแนวทางธุรกิจที่เห็นชัดแต่กำลังซื้อในครึ่งปีหลังก็คงจะไม่แรงนัก ดังนั้นครึ่งปีหลังนี้เรียกว่าเป็นช่วงของการประคับประคองการเติบโตอย่างระมัดระวังให้ข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ทำให้เป้าหมายเราไม่ได้ตั้งไว้สูงมากนักแต่เป็นการเกาะไปกับการเติบโตของตลาดประกันภัย ซึ่งในตลาดมักจะแบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ กลางและเล็ก โดยเราเป็นบริษัทขนาดกลางที่ปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วจึงมีอัตราการเติบโตกว่าตลาด และพร้อมที่จะมองหาลูกค้าผ่านช่องทางวิถีการตลาดแบบใหม่อยู่เสมอ” ผศ.ชญณา กล่าว
ผศ.ชญณา กล่าวต่อว่า การทำตลาดรายย่อยของซมโปะ ปัจจุบันมีธนาคารซีไอเอ็มบีเป็นพันธมิตร เน้นลูกค้าเงินกู้บ้าน และเงินกู้รถ แต่สถานการณ์ปัจจุบันธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้ ทำให้คนกู้เงินน้อยลง อาจต้องเปลี่ยนเป็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Loan customer ซึ่งต้องเพิ่มช่องทางเข้าหาลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นว่าคนบางกลุ่มยังมีกำลังจ่ายเพื่อรองรับความเสี่ยง เช่น ประกันสุขภาพ เริ่มเห็นว่าคนไทยมีความตระหนักในเรื่องสุขภาพมากขึ้น และให้ความสนใจซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถเพิ่มสัดส่วนรายย่อยให้ได้ แม้เบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นจะไม่รวดเร็วเท่าในส่วนของลูกค้ารายใหญ่ หรือลูกค้าองค์กรที่เพิ่มเร็วกว่า
สำหรับตลาดลูกค้ารายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เห็นได้จากขณะนี้เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว การส่งออกดีขึ้น ความต้องการประกันก็เติบโตตามไปด้วย และปัจจุบันยังมีเทรนด์สำคัญที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนคือ หลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจเริ่มตระหนักถึงความรับผิดต่อผู้อื่นมากขึ้น โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วจะเห็นเทรนด์นี้ชัดเจน เพราะประชาชนมีความเข้าใจและเรียกร้องสิทธิกันมากขึ้น ทำให้การประกันภัยที่ครอบคลุมต่อบุคคลอื่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มเห็นเทรนด์นี้มากขึ้น และเป็นเรื่องดีที่คนรู้สึกว่าความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น คือ ความเสี่ยง
อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนธุรกิจประกัน คือ คนไทยตระหนักและมีความรู้เกี่ยวความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตของประกันสุขภาพ ที่เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มแพงขึ้นตามเทคโนโลยีที่ใช้รักษา ทำให้ลูกค้าต้องหันมาทำประกันสุขภาพด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งบทบาทของบริษัทประกันจะต้องทำให้คนตระหนัก ไม่ใช่หวาดกลัว โดยทำให้รู้ว่าทุกอย่างต้องมีแผนสองรองรับ การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ หากคนไทยตระหนักถึงความเสี่ยงมากขึ้น จะทำให้ธุรกิจประกันเติบโตได้มาก เพราะปัจจุบันคนไทยถือครองกรมธรรม์จำนวนไม่มาก จึงมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะตลาดรายย่อย และเอสเอ็มอีที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง แต่วิกฤติครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสร้างการเติบโตให้กับเอสเอ็มอีด้วย หากจะก้าวไปอย่างยั่งยืนต้องมีรู้จักบริหารความเสี่ยง
“ความท้าทายของธุรกิจประกันเป็นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว และเจเนอเรชั่นใหม่กำลังเติบโต ในยุคดิจิทัลที่ผลักดันให้องค์กรต้องมาอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ คีย์สำคัญคือ Data ที่จะทำให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการได้ตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคเข้าใจเรื่องประกันมากขึ้น แค่รอเวลาให้กำลังซื้อกลับมา โดยซมโปะจะใช้ประโยชน์จาก Data มาขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งส่งมอบประสบการณ์การซื้อประกันทางออนไลน์ที่ดียิ่งขึ้น”
ซมโปะ ประกันภัย ก้าวสู่ตลาดไทยเมื่อปี 2540 ในฐานะบริษัทประกันชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 130 ปี โดยเริ่มต้นจากบริษัทประกันอัคคีภัยที่เข้ามาดูแลลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ในช่วงแรกจึงให้บริการในลักษณะ B2B จนในปี 2558 ได้เริ่มปรับพอร์ตการประกอบธุรกิจให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบ B2C และในช่วงปี 2559 เริ่มเน้นเรื่องของประกันการเดินทางเริ่มต้นขยายฐานสู่ลูกค้ารายย่อย ด้วยกลยุทธ์หลักที่ถือเป็นจุดแข็งคือ Data ด้านการท่องเที่ยว-ผลผลิตทางการเกษตร-การเดินทาง พัฒนาสู่สินค้าเรือธงในการบุกตลาดไทย ได้แก่ ประกันภัยท่องเที่ยว ประกันภัยพืชผล และประกันรถกระบะ ภายใต้ปรัชญาการดูแลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่น เพื่อความสุขในทุกรายละเอียดการใช้ชีวิตของทุกคน
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก เบี้ยประกันภัยของซมโปะเติบโตจากลูกค้ารายใหญ่ โดยส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนอยู่ที่ 85% ส่วนลูกค้ารายย่อยอยู่ที่ 15% ของพอร์ตรวม แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ประกันภัย P&C (Fire, IAR, Liability) อยู่ที่ 63% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กรมีสัดส่วน, ประกันภัยรถ (Motor) อยู่ที่ 14%, ประกันภัยอื่น ๆ อยู่ที่ 10% เช่น ประกันพืชผล Loan Protection, ประกันสุขภาพ อยู่ที่ 5% และประกันภัยการเดินเรือ อยู่ที่ 4%