ธปท.เตรียมออกมาตรการจูงใจแบงก์ ปรับโครงสร้างหนี้สู้โควิด-19

11 ส.ค. 2564 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 20:16 น.

ธปท. เตรียมคลอดมาตรการจูงใจแบงก์ ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งเป้าลดภาระลูกค้า ทั้งการลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ยืดเวลาผ่อนยาวจนกว่าจะฟื้นตัวได้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสถาบันการเงินและกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำมาตรการจูงใจ ให้สถาบันการเงินต่างๆ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้มีภาระผ่อนจ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้เป้าหมายหลักคือ  ต้องการให้สถาบันการเงินลดภาระหนี้ให้กับลูกค้ามากขึ้น ทั้งการปรับลดหนี้(แฮร์คัท) หรือ ลดดอกเบี้ยลง นอกเหนือจากการยืดเวลาชำระหนี้ออกไปเพียงอย่างเดียว เพราะประเมินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงและคาดว่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้  

ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น และ แพคเกจแบบครั้งคราว  2-3 เดือนที่ออกมาก่อนหน้านี้ หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ อาจไม่เพียงพอแล้วต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเปราะบางและความเดือดร้อนของลูกค้ามากขึ้น แต่มาตรการที่ออกมาจะต้องเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งไม่กระทบต่อสถานะการเงินของธนาคารและช่วยเหลือลูกค้าในระยะยาวได้แท้จริง

 

"ธปท.จะเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปให้เร็วที่สุด ซึ่งมาตรการจูงใจกับสถาบันการเงินขณะนี้คือผ่อนผันการจัดชั้นหนี้ ที่ครบอายุในสิ้นปีนี้ ดังนั้นจะต้องมีมาตรการออกมาต่อเนื่อง เพื่อให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า ซึ่งประเด็นที่สถาบันการเงินกังวลคือ ระดับหนี้เสีย เพราะจะเกี่ยวเนื่องกับการกันกันสำรองด้วย"นายรณดลกล่าว

สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้าง จะให้สถาบันการเงินพิจารณาตามความเหมาะสมกับประเภทธุรกิจและการฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 คลี่คลายแท้จริง เช่น ภาคท่องเที่ยวและโรงแรม คาดว่า กว่าจะฟื้นตัวก็ 2-3 ปี ส่วนธุรกิจบริการหรือร้านอาหารก็อาจใช้เวลาน้อยกว่า ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้ต้องสามารถตอบโจทย์และช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างแท้จริง

 

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟูกิจการ ข้อมูล  ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 พบว่า ปล่อยกู้แล้วประมาณ  9 หมื่นล้านบาท จำนวน 2.9 หมื่นราย ในส่วนหนี้เป็นเอสเอ็มอี 40% และธุรกิจในต่างจังหวัดถึง 68%  ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ อนุมัติแล้ว 8,991 ล้านบาท ลูกหนี้ 50 ราย