เปิดตัวเพจ “ออมสินห่วงใย” ศูนย์กลางความช่วยเหลือโควิด-19

16 ส.ค. 2564 | 10:44 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 17:45 น.

ออมสินประกาศเปิดตัวเพจ “ออมสินห่วงใย” สร้างศูนย์กลางความช่วยเหลื แห่งใหม่บนโลกโซเชียล ร่วมด้วยทีมไรเดอร์ออมสินห่วงใย อาสาจัดส่งยาและเวชภัณฑ์แก่ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดพื้นที่ระบาดใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน และมีผู้ป่วยและผู้เดือดร้อนที่รอรับความช่วยเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ธนาคารจึงเปิดตัวเฟสบุ๊กเพจ “ออมสินห่วงใย” อาสาเป็นศูนย์รวมความช่วยเหลือแห่งใหม่บนโลกโซเชียล ให้ผู้ป่วยหรือผู้เดือดร้อนเข้าถึงความช่วยเหลือได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน

เพจออมสินห่วงใยพร้อมให้ความช่วยเหลือ 3 ด้านคือ

1.บริการ “ไรเดอร์ออมสินห่วงใย” จัดส่งยา เวชภัณฑ์ หรือสิ่งของยังชีพ ทั้งที่เป็นการส่งให้ผู้ที่ติดต่อเพจออ1มสินห่วงใยโดยตรง และช่วยภารกิจของหน่วยงานหรือกลุ่มจิตอาสาที่ขาดแคลนกำลังคนในการส่งของให้ผู้ป่วย 2. การบริจาคอาหารฟรี ทั้งอาหารปรุงสุกและอาหารแห้ง

 

3.การช่วยเหลือหน่วยงาน พันธมิตร และกลุ่มจิตอาสา ทำภารกิจช่วยเหลือผู้เดือดร้อนของแต่ละเครือข่าย เช่น สปสช. กลุ่มเส้นด้าย   เพจอีจัน เพจเราต้องรอด We Care Network ตลอดจนสถานพยาบาลในพื้นที่ธนาคารออมสินภาคทั่วประเทศ

เปิดตัวเพจ “ออมสินห่วงใย” ศูนย์กลางความช่วยเหลือโควิด-19

ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถติดตามข้อมูล หรือแจ้งรายละเอียดความช่วยเหลือที่ต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยกดไลค์และติดตามเพจ “ออมสินห่วงใย” เพียงคลิก ที่นี่  หรือเข้า facebook พิมพ์ค้นหา “ออมสินห่วงใย” ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินได้ริเริ่มจัดทำ โครงการ “ออมสินห่วงใย ส่งกำลังใจให้สังคม” บริจาคเงิน 15 ล้านบาท มอบความช่วยเหลือสู้ภัย COVID-19 แก่หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การบริจาคเงินจัดตั้งศูนย์พักคอย กทม. รองรับผู้ป่วยสีเขียว การบริจาคเงินสนับสนุนภารกิจโรงพยาบาลสนาม ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  เฉลิมพระเกียรติ และการบริจาคเงินสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลศรีธัญญา

 

นอกจากนี้ ยังได้มอบทรัพย์สินที่รอการขาย (NPA) ให้ทางราชการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำเป็นสถานที่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (Local Quarantine) หรือศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ของแต่ละพื้นที่

 

เช่น ศูนย์การเรียนรู้วิทยาลัยออมสิน (ศูนย์การเรียนรู้ส่องแสง) ซึ่งเป็นอาคารเรียน บ้านพัก และหอประชุม บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมถึงอาคาร บ้านเรือน และรีสอร์ตอีกหลายแห่ง ในจังหวัดลำปาง ลพบุรี พิษณุโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการส่งมอบพื้นที่แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดตั้งศูนย์ฯ และเตรียมขยายผลดำเนินการในจังหวัดอื่นต่อไป