“พิษโควิดหนักและยืดเยื้อกว่าคาด” ธปท.หันปรับโครงสร้างหนี้

16 ส.ค. 2564 | 11:34 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 18:58 น.

“พิษโควิดหนักและยืดเยื้อกว่าคาด” ผู้ว่าธปท.โฟกัสการปรับโครงสร้างหนี้เบรกพักชำระหนี้ 2 เดือน เผยหลังรื้อเกณฑ์ซอฟต์โลนออกสินเชื่อฟื้นฟูยอดกู้ล่าสุดแตะ89,444 ล้านบาท หนุนสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 0.7%เป็นบวกครั้งแรก หลังจากติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนCOVID-19

ธปท.เผยธุรกิจโรงแรม- โรงงาน-ร้านอาหารเข้าพักหนี้แล้ว 50 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 8,991 ล้านบาท

“พิษโควิดหนักและยืดเยื้อกว่าคาด” ธปท.หันปรับโครงสร้างหนี้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวทางดำเนินนโยบายการเงินของธปท. โดยระบุ  มาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระหนี้และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินการหลายมิติ ครอบคลุมลูกหนี้ที่หลากหลาย และถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง  โดยการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมที่ผ่านมา จะเห็นพัฒนาตั้งแต่ช่วงแรกที่สถานการณ์ระบาดของโควิดไม่ชัดเจนโดยทำมาตรการแบบปูพรม  ถัดมาปรับมาตรการช่วยเหลือแบบตรงจุด(มาตรการระยะที่2) ล่าสุด เมื่อการระบาดระลอก3 (เมษายน 2564) ส่งผลรุนแรงขึ้นมาก จึงปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3  เน้นบรรเทาภาระหนี้ในระยะยาว ลดภาระดอกเบี้ย และมีทางเลือกในการปิดหนี้ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้รายย่อยที่อยู่ภายใต้มาตรการฯ  จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 4.5 ล้านบัญชี

สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีปัญหาในการชำระหนี้ ธปท. จัดให้มีช่องทางแก้หนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้ และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ และมีแนวทางแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้เข้าโครงการในส่วนของบัตรเครดิตและ P-Loan ที่ได้รับความช่วยเหลือสะสมแล้วกว่า 1.9 แสนบัญชี   

ในส่วนของลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินเป็นประกัน ธปท. จึงได้ออกแบบมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตัดภาระการผ่อนชำระหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันได้ชั่วคราวอย่างตรง “อาการ” ซึ่งตั้งแต่มาตรการออกใช้ (26เม.ย.64)มีผู้เข้าร่วมโครงการ 50 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 8,991 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงกิจการอื่น ๆ เช่น โรงงาน ร้านอาหาร เป็นต้น

“มาตรการนี้เป็นอีกทางเลือกให้กับลูกหนี้ในการบรรเทาภาระหนี้เท่านั้น โดยยังมีอีกหลายทางเลือก เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว การพักชำระหนี้ระยะสั้น หรือการเติมสภาพคล่อง ซึ่งจากข้อมูลลูกหนี้ในกลุ่มโรงแรมและที่พักแรมที่มียอดหนี้คงค้างกับธนาคารพาณิชย์จำนวนประมาณ 4 แสนล้านบาท พบว่า 69% หรือ 2.83 แสนล้านบาท ได้รับความช่วยเหลือ โดยพบว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้มากที่สุด โดยธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ ร่วมกับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป”

ล่าสุด ธปท. ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ที่เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ไทย แจ้งขอรับความช่วยเหลือจำนวนเงินรวม 353,705 ล้านบาท รวม 630,585 บัญชี และได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 240,642 ล้านบาท (68%) คิดเป็น 375,153 บัญชี ( 59%)  โดยอัตราการให้ความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สูงมาก ส่วนใหญ่เนื่องจากยังไม่มีระบบอัตโนมัติ ทำให้มีลูกหนี้ที่ต้องรอการพิจารณา ซึ่งธนาคารพาณิชย์กลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยปฏิบัติงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว

นอกจากนี้ ธปท.ได้ดำเนินมาตรการในส่วนของสินเชื่อใหม่  ด้วยการเติมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อภายใต้มาตรการฟื้นฟูสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้การกระจายสินเชื่อทำได้ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สะท้อนความมุ่งมั่นช่วยเหลือธุรกิจให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เนื่องจากได้ปรับเงื่อนไขจาก พ.ร.ก. soft loan เดิมให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ โดยมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมของ ธปท.และสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนตุลาคม 64 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค  โดย ณ  วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ธปท. ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูรวมทั้งสิ้น 89,444 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ จำนวน 29,365 ราย เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ Micro SMEs ( 44.2%) ประกอบธุรกิจกลุ่มการพาณิชย์และบริการ ( 67.5%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพและปริมณฑล ( 68.7%)

“ แม้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีสภาพคล่องจำนวนมากในระบบ แต่สภาพคล่องยังไม่ไปในที่ที่ธปท.ต้องการให้ไป เพราะความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่แน่นอนมีอยู่สูง  แม้แบงก์พาณิชย์ยังทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อโดยรายใหญ่ขยายตัว 3% รายย่อยมากกว่า 5%แต่เอสเอ็มอียังไม่โต ซึ่งมีปัญหาจากความเสี่ยง เหล่านี้เป็นเหตุผลให้ธปท.ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งล่าสุดพบว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 0.7%ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลับมาเป็นบวกหลังจากติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า   ลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนักและมีโอกาสจะต้องพักต่อไปอีก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก  ธปท.จึงอยากเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จากการพักหนี้ซึ่งเป็นการแก้โจทย์เฉพาะหน้า  เพราะถ้าต้องพักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ นอกจากจะไม่ทำให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง  ยังทำให้ลูกหนี้มีความเครียดจากความไม่แน่นอนและสิ้นเปลืองเวลาในการติดต่อสถาบันการเงิน ขณะที่สถาบันการเงินเองก็สิ้นเปลืองต้นทุนการบริหารจัดการด้วย  ดังนั้น ภายใต้บริบทของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น แนวทางต่อไปธปท. อยากเห็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขหนี้ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าและช่วยลูกหนี้ได้จริง  คือ (1) การปรับให้ภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก เพื่อให้เจ้าหนี้ยังติดต่อลูกหนี้ได้ หรือ “ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ” และ (2) การผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากให้ได้อย่างทันการณ์ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้  โดยควรต้องมี 5ลักษณะ ประกอบด้วย  1.มองยาว มองไปข้างหน้าถึงสถานการณ์ในอนาคตมากขึ้น โดยให้ภาระการจ่ายหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา

2.ทำกว้าง เน้นให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ให้สามารถ scale การช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีจำนวนมากได้เร็ว

3.ตรงจุด ให้เหมาะกับ “อาการ” ของลูกหนี้แต่ละรายหรือแต่ละกลุ่ม ที่มีปัญหาและการฟื้นตัวที่ต่างกัน

4.รอดด้วยกัน มาตรการช่วยเหลือต้องเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

และ5. ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิด (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก ทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง และส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวม

 

ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางดังกล่าว ธปท. จะมีกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการที่ยังให้ความยืดหยุ่นในเรื่องการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และอาจรวมถึงการลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย