นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเปิดงานงาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปาฐกถาพิเศษใน หัวเรื่อง “สร้างความพร้อมประเทศไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19” โดยระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การสัมมนาในวันนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด – 19 และเตรียมการณ์เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมเพื่อที่จะก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ในโลกยุคหลังโควิด อย่างไรก็ตามการระบาดของสายพันธุ์โควิดสายพันธุ์แลมป์ด้าในหลายประเทศอาจจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป
ภาพรวมเศรษฐกิจของไทย
เริ่มจากมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และผลกระทบของโควิด-19 นั้น หลังจากประเทศไทยประสบความสำเร็จจากการควบคุมเชื้อโรคเมื่อปีที่แล้ว แต่เมื่อสายพันธุ์เดลต้าที่สามารถระบาดได้รวดเร็วมาถึงก็ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ลำบากขึ้น ส่งผลให้มีการติดต่อกันไปเป็นวงกว้างในระยะเวลาอันสั้น สถานการณ์ก็คล้ายคลึงกับหลายประเทศในภูมิภาค
รัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรที่มีเพื่ออยู่สนับสนุนระบบสาธารณสุขและผู้ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนำเอามาตรการควบคุมต่าง ๆ กลับมาใช้อีกเพื่อป้องกันมิให้อัตราระบาด และอัตราการเสียชีวิตพุ่งขึ้นสูง และก็เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ มาตรการควบคุมการระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายเดินทางของประชาชนลดน้อยลงไป ซึ่งทำให้การฟื้นตัวและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2564 ชะงักงัน ด้วยเหตุดังนี้ กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 ลงเหลือ 1.3% จากผลพวงของการระบาดระลอกล่าสุด ซึ่งเริ่มต้นในช่วงท้ายของไตรมาสสองในปีนี้
ลุ้นจีดีพีปี65โตตามเป้า 4-5%
สำหรับปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้โมเดลภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์และสมุยพลัส ที่ตอนนี้ขยายไปครอบคลุมนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของไทย การระบาดที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4.0 – 5.0% ได้ในปี 2565
“ผมก็อยากจะใช้โอกาสนี้ชี้ว่าสถานภาพทางด้านการเงินของไทยนั้นยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการกู้ยืมเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่สัดส่วนของหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) นั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยอยู่ที่ 56.1% และกระทรวงการคลังก็คาดหมายว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP นี้จะอยู่ต่ำกว่า 60% ในปลายปีงบประมาณนี้ อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ และการมีวินัยการคลังอันเข้มงวดหากต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งตั้งขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐก็สามารถที่จะทบทวนเพื่อที่จะยกระดับเพดานดังกล่าวได้”
นอกจากนี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเราสามารถที่จะคงวินัยทางด้านการเงินเอาไว้ได้แม้ในยามที่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มระดับของหนี้สาธารณะขึ้น อันเนื่องมาจากการที่เราสามารถคงการจ่ายดอกเบี้ยไว้ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากยุทธศาสตร์การกู้ยืมที่หลากหลายโดยผ่านตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นที่สภาพคล่องสูง
คาดการณ์ในระยะกลางและระยะยาว
นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่เรายังคงต่อสู้อยู่กับการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลก็ได้เตรียมการเพื่อจะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้เพื่อเป็นรากฐานแห่งการเติบโตในระยะยาวของประเทศ
ประการแรก แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมโดยการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสโดยถ้วนหน้า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้นอาจจะไม่เท่ากันในทุกภาค และยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจน ในขณะเดียวกันก็สร้างการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันโดยผ่านมาตรการรองรับทางสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น บัตรสวัสดิการสังคม ที่สามารถช่วยลดภาระการเงินของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ
ประการที่สอง ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ทางรถไฟ, การบิน และพลังงาน โครงการเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยมาก และจะทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ อย่างเข้มแข็งมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เราได้ลงทรัพยากรหลากหลายไปยังเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในฐานะที่เป็นตัวกระตุ้นนวัตกรรมและอุตสาหกรรมในอนาคต การเพิ่มแหล่งระดมทุนจากเดิมที่มีการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน มาสู่การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ PPP ก็สนับสนุนโครงการเหล่านี้ได้ดีมากขึ้น
ประการที่สาม ลดภาวะเรือนกระจกและหาวิธีแก้ไขปัญหาภาวะภูมิอากาศแปรปรวน รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดจนให้อาจถึงระดับเป็น 0 ภายในปี 2065 ซึ่งประเทศไทยก็ได้กำหนดแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย
เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานทางเลือก, เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy), ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรม รวมทั้งการปลูกป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่อุตสาหกรรมสีเขียวในรูปแบบของพันธบัตรเพื่อการพัฒนายั่งยืน เพื่อให้สามารถสนับสนุนการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในระดับโลกได้
ประการที่สี่ สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เราจำเป็นจะต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่การพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการการผลิต, การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์, การเป็นศูนย์กลางโลจิสติก และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ประการที่ห้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเทศไทยควรจะปรับโครงสร้างและสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองกับความต้องการของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 ชนิดจะทำให้ผลผลิตแห่งชาติและรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะศูนย์กลางข้อมูลและดิจิทัล, อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความฉลาด, และเทคโนโลยีชีวภาพ
ประการที่หก สร้างความเข้มแข็งและความสามารถการแข็งขันสำหรับธุรกิจรายย่อย (MSMEs) ภาคธุรกิจรายย่อยนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเรา เพราะคิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่า GDP ทั้งหมด รัฐบาลกำลังเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้เข้าถึงเม็ดเงินลงทุนได้ และสร้างโอกาสที่เข้าร่วมในการจัดซื้อของภาครัฐ
ฝากความหวัง "ตลาดทุน"หนุนเศรษฐกิจแกร่งหลังโควิดโควิด-19
นายอาคมยังได้กล่าวถึงตลาดทุนของไทย โดยระบุว่า มีความสมดุลอย่างยิ่ง ไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถใจการแข่งขันของประเทศ ยังทำให้เราสามารถที่จะจัดการกับสภาพเศรษฐกิจได้ดีขึ้น รวมไปถึงการดูดซับแรงกระแทกต่าง ๆ เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพของตลาดทุนหลากหลายรูปแบบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำให้เศรษฐกิจในห้วงเวลาหลังโควิด-19 กลับมาแข็งแกร่ง
ตลาดทุนของไทยในอนาคตควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้:
1. เป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และสตาร์ทอัพ ที่นำเสนอนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ ๆ
2. แหล่งระดมทุนสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและดิจิทัล
3. เป็นที่ส่งเสริมบริษัทชั้นนำระดับประเทศต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก
4. แหล่งรวมบริษัทซึ่งให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและจริยธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5. ตลาดซื้อขายทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
6. เป็นแหล่งลงทุนของเหล่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศหลากหลายประเภทและความต้องการ
7. เป็นสถานที่ที่มีกฎเกณฑ์ควบคุม และมีความโปร่งใส รวมทั้งมีความคุ้มครองให้กับนักลงทุนกลุ่มน้อย เหนือสิ่งอื่นใด ในโลกหลังโควิด-19 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ อย่างเช่น รถไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล ตลาดทุนจะมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเหล่านี้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่กลุ่มสตาร์ทอัพด้วย
“เส้นทางข้างนั้นมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเต็มไปด้วยความท้าทาย และความไม่แน่นอนนานัปการ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดคือพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะทำอย่างสุดกำลังเพื่อเอาชนะโรคระบาด ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ผมเชื่อว่าเราจะสามารถมองไปในอนาคตแล้วเห็นโอกาสหลากหลายในทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน”รมว.คลังกล่าวสรุปทิ้งท้ายในที่สุด