นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 2 ปี 2564 ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 2.4% จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้าง และราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ
ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.8% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า มีการขยายตัวที่ 5.1% 5.4% และ 7.1% ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิต และการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัว 2.2% และ 1.4 % ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.89% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมี 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%
เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือนมีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว และยังพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 3.18% และ 3.44% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง
สำหรับหรับการว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตน 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป
1.ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาดที่ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงานจากการแพร่ระบาด COVID-19 และรัฐบาลมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัด ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงาน/การมีงานทำ และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะในพื้นที่ 29 จังหวัด มีเพียง 5.5% หรือ 5.6 แสนคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้นและมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ
2.การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐ เพื่อประคับประคองให้แรงงาน และผู้ประกอบการยังคงรักษาการจ้างงาน และการประกอบกิจการ การระบาดของ COVID-19 ที่ยาวนานจะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เข้มข้นกว่าการช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา
อาทิ การช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็นต้องกักตัว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งมีทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่ว่างงานหางานลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลำเนามีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวก และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง
“เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง แต่ยังมีบางสาขาที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ส่วนภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ฉะนั้นในส่วนของผู้เสมือนการว่างงานจะยังต้องเฝ้าระวังจากสถานการณ์ของสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดูผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานว่า เราคงต้องมีอะไรออกมาช่วยด้วย” นายดนุชากล่าว