นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal หัวข้อ "วิถีดำรงชีพยุคใหม่: ถอดบทเรียนโควิด-19 สู่ทิศทางแห่งอนาคต" ว่า ในปี 2563 การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยหดตัว 6.1% ซึ่งออกมาดีกว่าที่หน่วยงานต่างๆ คาดว่าจีดีพีจะหดตัวสูงถึง 8-10% ส่วนปีนี้จีดีพีในไตรมาสแรก แสดงถึงการฟื้นตัว 7.5% สูงกว่าคาดหมายของหน่วยงานต่างๆ ที่คาดไว้ที่ 6.4% แต่เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้ถึงพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 55% ต่อจีดีพี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ประเทศไทยยังมีสถานะด้านการเงินการคลังที่ดีกว่า ทำให้สามารถใช้มาตรการด้านการเงินการคลังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ หนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของไทย จะเป็นหนี้ภายในประเทศในรูปของเงินบาท และเป็นหนี้ระยะยาว
ขณะที่ ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนปริมาณเงินตราสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และเมื่อเปรียบเทียบเงินตราสำรองระหว่างประเทศกับหนี้ต่างประเทศในระยะสั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่า 3.4% เล็กน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมักใช้ในการจัดอันดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และเป็นหลักฐานสำคัญของความทนทานของเศรษฐกิจไทยต่อภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่ายังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 20.3% และในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 16% ทำให้การส่งออกกลายเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม จีดีพีเติบโต1.3% และปีหน้ากระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตประมาณ 4-5% สอดคล้องกับการประมาณการของหน่วยงานอื่นๆ ของประเทศ รวมถึงคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นในช่วงปลายปี และจะสามารถเปิดประเทศได้ในช่วงต้นปีหน้า
"นับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาลก็เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบภายใต้โครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 6% ของจีดีพีประเทศ เราสามารถเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อประคองเศรษฐกิจ มีการเบิกจ่าย 83% ไปแล้ว และยังคงมีเงินเหลืออยู่ 170,000 ล้านบาทที่จะใช้จ่ายในช่วงต่อไป โดยมีประชากรไทย จำนวน 48.5 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการภายใต้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้ นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังได้จัดทำโครงการเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ขึ้นอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเมื่อรวมกันสองโครงการจะเห็นว่าเรามีทรัพยากรและเม็ดเงินพอสำหรับการต่อต้านโควิด และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ และหากมีความต้องการเม็ดเงินอีก ทางคณะรัฐบาลก็สามารถที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมได้"