สรรพากรรุก เก็บภาษีเงินได้แพลตฟอร์มต่างประเทศ

27 ส.ค. 2564 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 15:10 น.

สรรพากรเดินหน้าจัดเก็บภาษีเงินได้ แพลตฟอร์มข้ามชาติ หลังสมาชิก OECD 130 ประเทศเห็นชอบ เบื้องต้นรายได้เกิน 1 หมื่นล้านยูโร ต้องปันกำไรเป็นภาษีดิจิทัล หลัง 1 ก.ย.64 ดีเดย์เก็บภาษี e-Service นำร่อง ดันรายได้ภาษีปีละ 5 พันล้านบาท

วันที่ 1 กันยายน 2564 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากแพลตฟอร์มต่างประเทศหรือ ภาษี e-Service จะมีผลบังคับใช้ ภายใต้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศ

 

ที่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร โดยคำนวณจากภาษีขาย ไม่ให้หักภาษีซื้อ และห้ามออกใบกำกับภาษี

 

นายเอกนิติ นิติทัณท์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากรเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมสรรพากรได้เปิดระบบให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาลงทะเบียนทางออนไลน์ผ่านระบบ VES (VAT for electronic service) แล้วตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่า แค่เพียง 5 วันมีผู้ลงทะเบียนเข้ามาแล้ว 34 รายมากกว่าที่คาด และเข้ามาลงทะเบียนครบทั้ง 5 ประเภทแพลตฟอร์ม มีทั้งรายเล็ก รายใหญ่ และบางรายก็ยังไม่เคยได้ยินเชื่อมาก่อน

เอกนิติ นิติทัณท์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร

สำหรับแพลตฟอร์ม 5 ประเภทคือ 1.การซื้อขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ์ 2.โฆษณา 3.กลุ่มเอเยนต์ เช่น ตัวแทนจำหน่ายโรงแรม ขายตั๋วเครื่องบิน 4.กลุ่มคนกลางซื้อขาย หรือ Peer t Peer และ 5.บริการสมาชิกประเภท ดูหนัง ฟังเพลง โดยระยะแรกตั้งเป้าที่จะให้มีผู้ให้บริการเหล่านี้มาลงทะเบียน ประมาณ 100 รายที่จะเข้าสู่ระบบ

สำหรับรายได้จากการจัดเก็บภาษี e-Service คาดว่าปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้นำส่งในสิ้นปีงบประมาณ 2564 เพราะเมื่อกฎหมายบังคบใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 ผู้ประกอบการที่มาลงทะเบียนมีหน้าที่นำส่งรายได้จากการขายและบริการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป ซึ่งงวดแรกที่จะเข้ามาคือ วันที่ 23 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงของปีงบประมาณ 2565

 

“ไทยจะเป็น 1 ใน 60 ประเทศที่สามารถจัดเก็บภาษีจากแฟลตฟอร์มจากต่างประเทศได้ หลังจากมีความพยายามมายาวนานเหมือนกับที่หลายประเทศทำ ส่วนจะมีการผลักภาระภาษีดังกล่าวไปให้กับผู้บริโภคหรือไม่ ขึ้นกับประเภทของการให้บริการ ในธุรกิจที่มีผู้ให้บริการน้อยรายก็สามารถทำได้ แต่ในธุรกิจที่แข่งขันสูงอย่างดูหนังฟังเพลง จะมีผู้บริการหลายรายก็อาจจะยากหน่อย เพราะถ้าขึ้นราคา ลูกค้าสามารถย้ายไปหารายที่มีราคาถูกกว่าได้” นายเอกนิติกล่าว

 

ทั้งนี้ การจัดเก็บแวตเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจัดเก็บภาษีแฟลตฟอร์มต่างประเทศที่มาหารายได้ในประเทศอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศ ขั้นตอนต่อไปที่กำลังหาร่วมกับประเทศต่างๆคือ การจัดเก็บภาษีเงินได้ของแฟลตฟอร์มเหล่านั้น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจออนไลน์ข้ามชาติ เพราะหากเสียภาษีแวตที่ 7% ก็จะทำให้รู้รายได้ทั้ง 100% ได้

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเงินได้ มีกฏกติการะหว่างประเทศกำหนดว่า จะต้องมีสถานประกอบการที่ตั้งในประเทศนั้นๆ ดังนั้นในประเทศสมาชิกของ OECD จึงได้หารือที่จะมีการกำหนดวิธีใหม่ เป็นภาษี Digital service ซึ่งประเทศสมาชิก OECD 130 ประเทศเห็นด้วยจาก 137 ประเทศ โดยตกลงเบื้องต้นในระดับ Pillar I หรือ เสาที่ 1 คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้เกิน 1 หมื่นล้านยูโรจะต้องปันกำไรเป็นภาษีดิจิทัลด้วย และล่าสุดในที่ประชุม G7 เองก็เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปเช่นกัน

 

สำหรับการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพากรในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กรกฎาคม2564) แม้จะสามารถเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4-5% แต่ยอมรับว่า จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณค่อนข้างมาก เพราะเป้าหมายจัดเก็บที่ 2.08 ล้านล้านบาท ถูกตั้งไว้ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นถึง 13% แต่เมื่อเจอผลกระทบจากโควิดเช่นนี้ น่าจะลำบาก เพราะกรมสรรพากรก็ต้องช่วยผู้เสียภาษีด้วย คงไม่ไปไล่บี้ในช่วงนี้

 

“ภาพรวมปีนี้ รายได้ภาษียังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งกรมจะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยช่วงที่ผ่านมา ภาษีบางรายการก็จัดเก็บได้ดีกว่าที่คาด เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายฐานภาษี ทำให้ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบได้ ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเป็นธรรม ไม่ได้เข้าไปทำให้ประชาชน หรือภาคธุรกิจเดือดร้อน เพราะเข้าใจว่าเป็นช่วงที่โควิดส่งผลกระทบไปทั่ว” นายเอกนิติกล่าว

 

ส่วนแนวโน้มที่เหลืออีก 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ ต้องรอดูยอดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด.51ว่า จะเข้ามามากแค่ไหน ซึ่งเท่าที่ดูผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมาดูดี น่าจะทำให้ได้ภาษีส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564