ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน2 ออกมาระบุว่า มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 มีลูกหนี้จากสถาบันการเงินเข้าร่วมมาตรการแล้ว 14 ราย ยอดอนุมัติรวม 959 ล้านบาท
ยังมีีลูกหนี้ที่ได้ยื่นตีโอนทรัพย์ไปยังสถาบันการเงินแล้วรวมกว่า 10,000 ล้านบาท แต่สถาบันการเงินยังไม่ได้ยื่นขออนุมัติมาที่ธปท. เพราะรอการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์จากกรมสรรพากร
ล่าสุดกรมสรรพากรได้ลงประกาศอธิบดี (ฉบับที่ 34) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 721) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาระสำคัญของประกาศอธิบดีคือ ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินและสถาบันการเงินจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสาร ที่ได้ทำกับสถาบันการเงิน ตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ในมาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้
ทั้งนี้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินและสถาบันการเงิน ต้องแจ้งและส่งมอบแบบยืนยันการเข้าร่วมมาตรการต่อเจ้าพนักงานที่ดินและนิติกรรมตามกฎหมาย และส่งมอบหนังสือรับรองการเข้าร่วมมาตรการจาก ธปท. ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านสรรพากรพื้นที่ภายในวันสุดท้ายของปีภาษี หรือวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ที่มีการโอน
“เราเชื่อว่า มาตรการยกเว้นภาษีการโอนทรัพย์ “พักทรัพย์ พักหนี้” จะทำให้ลูกหนี้ธุรกิจที่มีทรัพย์และต้องการสภาพคล่อง ตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลภาระจากภาษีที่เกิดขึ้น และยังเป็นการลดต้นทุนให้กับลูกหนี้และสถาบันการเงิน ทำให้ลูกหนี้สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ และไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ยังทำให้ลูกหนี้สามารถซื้อทรัพย์คืนในราคาที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด” นางสมหมายกล่าว
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านภาษีสำหรับการโอนทรัพย์ ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 2% จากราคาประเมินที่ดิน ค่าอากรแสตมป์ อยู่ที่ 0.5% จากราคาประเมิน หรือราคาขาย ขึ้นอยู่กับว่าราคาใดสูงกว่า ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ อยู่ที่ 3.3% จากราคาประเมิน หรือราคาขาย ขึ้นอยู่กับว่าราคาใดสูงกว่า และค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคิดตามขั้นบันไดจากราคาประเมินหักค่าใช้จ่ายตามปีที่ถือครอง
มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ถูกออกแบบมาให้ช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีทรัพย์สินที่สามารถโอนชำระหนี้ได้และยังมีศักยภาพ เพื่อไม่ให้ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต อีกทั้งลดการถูกกดราคาทรัพย์สินในภาวะปัจจุบัน ซึ่งลูกหนี้จะต้องยื่นเข้าร่วมมาตรการผ่านสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ หลังจากนั้นสถาบันการเงินจะยื่นเรื่องขออนุมัติวงเงินมาที่ ธปท.
ธปท.นอกจากเป็นผู้อนุมัติวงเงิน ยังทำหน้าที่เป็นผู้คำนวณราคา ค่าเช่ากรณีที่ลูกหนี้ต้องการเช่าทรัพย์นั้นไปประกอบอาชีพ
รวมทั้งประเมินค่าดูแลที่เกิดขึ้นกรณีที่ลูกหนี้ไม่เช่าทรัพย์เพื่อใช้ประกอบอาชีพระหว่างเข้าร่วมมารตรการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ ขณะเดียวกันธปท. ยังสนับสนุนสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ย 0.01% รวมทั้งผ่อนปรณเกณฑ์สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม
ส่วนเงื่อนไข มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” คือ 1. เป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ที่จดทะเบียนในไทย มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย 2.เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ 3.ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน ขณะที่ทรัพย์ที่ใช้ในการโอนตามมาตรการ ต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้นก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,698 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564