“EA” แนะรัฐดันเทคโนโลยีในประเทศ หลุดกับดักรายได้ปานกลาง

27 ส.ค. 2564 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 16:45 น.

“EA” ชี้เทคโนโลยีไทยมีประสิทธิภาพไม่แพ้ประเทศอื่น แนะรัฐบาลจะส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อหลุด “กับดักรายได้ปานกลาง” มองแผนลด CO2 ปี 2065 เริ่มช้าเกินไป

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมายการลด CO2” หัวข้อเสวนา “ทิศทางพลังงานไทย สู่แผนปฏิบัติลดการปล่อย CO2” ว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนเทคโนโลยีถูกลง โดย EA ได้เริ่มธุรกิจจากธุรกิจไบโอดีเซล พลังงานหมุนเวียน และขยายธุรกิจด้านพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้เริ่มเข้าไปทำการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage), รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มจากการทำอุตสาหกรรมพลังงานที่เกี่ยวกับเกษตร เช่น ไบโอดีเซลบี100 และพัฒนามาเป็นกรีนดีเซล หลังจากนั้นยังพยายามสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้นจึงได้เริ่มทำBIO PCM หรือสารต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทำเรื่องต้นน้ำมากขึ้น เช่น โรงหีบปาล์ม เพื่อให้ครบกระบวนการ ซึ่งยังคงส่งเสริมอุตสาหกรรมจากพืชให้มีการเติบโต และมีมูลค่ามากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังสร้างระบบนิเวศ (Eco system) ใหม่ที่เกี่ยวกับพลังงานสีเขียว คือ แบตเตอรี่ โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์อีวีที่มีตั้งแต่รถขนาดเล็กไปจนถึงเชิงพาณิชย์ รถบัส และรถบรรทุก รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีสิ่งที่แตกต่างคือ การพยายามทำโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับ Ultra-Fast Charge และสร้างเครือข่ายที่ให้บริการหลังการขายเพื่อรองรับธุรกิจในอนาคต โดยปัจจุบันมีบริษัทย่อยต่างๆ เช่น Amita Technology ไต้หวัน ที่จับมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกพัฒนาแบตเตอรี่ร่วมกัน และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) (NEX) ที่ช่วยทำการตลาดและบริการ

 

สำหรับที่ผ่านมา Amita Technology บริษัทย่อยในไต้หวันที่ถือหุ้นกว่า 70% จับมือกับ ITRI สถาบันวิจัยไต้หวัน ได้รับรางวัลระดับโลก R&D100 จากผลงานการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ Solid-state ซึ่งในอนาคตหากเป็นไปได้จะมีการย้ายการผลิตกลับมาที่ไทยต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานสร้างเสร็จแล้ว 95% โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะนำมาใช้เกี่ยวกับ Battery Energy Storage เพื่อให้พลังงานที่ไม่เสถียร มีราคาถูกและเป็นพลังงานหมุนเวียน เปลี่ยนเป็นพลังงานที่เสถียร เป็นพลังงานหมุนเวียน และเป็นพลังงานสีเขียวทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการส่งเสริม จะทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ การส่งเสริมการใช้อีวีนั้น มองว่ากระแสของอีวีเข้ามาแน่นอน จะมาเร็วหรือช้าเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบกับเอทานอลและไบโอดีเซลแน่นอน แต่ถ้ารัฐบาลส่งเสริมในกระบวนการของเอทานอลหรือไบโอดีเซลมากขึ้น จะเป็นทางออกของเกษตรกร เพราะหากไฟฟ้าเข้ามามากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเติมไบโอดีเซลในน้ำมันได้มาก ส่วนแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2075 มองว่าเริ่มช้ามาก เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของไทยไม่แพ้ประเทศอื่น มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมอย่างไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนมุมมองของคนไทยเองที่ยังไม่เชื่อมั่นคนไทยด้วยกันเอง

 

“ไฟฟ้าเข้ามาอยู่แล้ว ถ้าเราเดินหน้าช้าเราจะเป็นผู้ใช้ แต่ถ้าเราเป็นคนเดินหน้าเร็ว เราจะกลายเป็นผู้นำซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐเป็นหลัก โดยมุมมองนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก ควรส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นไทยจะต้องซื้อเทคโนโลยีต่อไปเรื่อยๆ และอยู่ในประเทศ “กับดักรายได้ปานกลาง” ต่อไป”