นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63-ก.ค.64) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,917,019 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 216,878 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 10.2% แต่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 142,767 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9% กรมสรรพสามิต 67,595 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12.9% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 24,282 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16.5% แต่กรมศุลกากรมีแนวโน้มจัดเก็บรายได้ดีขึ้น เป็นผลจากการส่งออกและนำเข้าที่กลับมาขยายตัวได้ดี โดยสาเหตุที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง จนมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ประกอบกับการดำเนินนโยบายการคลังและภาษีเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระแก้ประชาชนและผู้ประกอบการ
“กระทรวงการคลังมีการประเมินว่าการจัดเก็บรายได้ตลอดงบประมาณปีนี้ คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10% หรือมีรายได้ลดลงกว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม คลังยืนยันว่าจะยังสามารถปิดหีบงบประมาณปีนี้ได้ หลังจากมีการขยายการกู้เงินในส่วนกรอบรายจ่ายสูงกว่ารายได้มาใช้แล้ว” น.ส.กุลยา กล่าว
รายงานจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า สำหรับยอดจัดเก็บรายได้ติดลบลงทุกรายการ โดยเฉพาะจาก 3 กรมภาษี กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรเก็บรายได้รวมกัน 1,991,155 ล้านบาท ลดลงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 212,490 ล้านบาท ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ลดลงเช่นกัน โดยมีรายได้ทั้งสิ้น 123,022 ล้านบาท ลดลง 24,282 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเป้าหมาย เนื่องจากปีนี้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบการลดลงจากผลกระทบโควิด รวมถึงธนาคารรัฐก็นำกำไรไปช่วยเหลือลูกหนี้และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่รายได้อื่นจัดเก็บได้ 146,426 ล้านบาท ลดลงกว่าเป้าหมาย 2,343 ล้านบาท