ธุรกิจและแรงงาน K (ขาลง) ต้องปรับตัวอย่างไร

10 ก.ย. 2564 | 06:06 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 13:06 น.

ธุรกิจไทยฟื้นตัวแบบ K-Shape …ธุรกิจและแรงงาน K (ขาลง) ต้องปรับตัวอย่างไร: คอลัมน์ ยัง อีโคโนมิสต์ โดย ธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งแต่ละธุรกิจได้มีการปรับตัวที่แตกต่างกัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง “การฟื้นตัวระยะปานกลางแบบ K-Shape”

 

ในฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงรายละเอียดผลการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจปี 2565-2566 และนำเสนอแนวทางการปรับตัวของธุรกิจที่ฟื้นตัวแบบ K (ขาลง) เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานจะสามารถปรับตัว รวมถึงแนวทางการเข้ามาช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยกันประคับประคองให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

 

ผลการศึกษาพบว่าธุรกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ K-Shape ในช่วงปี 2565-2566 โดยเผชิญกับความท้าทาย 3 ด้าน ดังนี้

 

1) เผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป 2) เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย 3) เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้แก่ การเข้าถึงผู้บริโภคผ่านหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การเข้ามาของเทคโนโลยี และความนิยมในสินค้าของผู้บริโภคมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

 

ทั้ง 3 ความท้าทายดังกล่าวทำให้การฟื้นตัวของแต่ธุรกิจแตกต่างกัน โดยมีรูปแบบฟื้นตัวเป็นแบบ K-Shape ดังนี้

  • K-Shape (ขาขึ้น) ได้รับปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ “ฟื้นตัวและเติบโตได้ดีต่อเนื่อง” ได้แก่ ธุรกิจประเภทไอทีและเทเลคอม บริการซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน ร้านค้าปลีกที่มีทั้งช่องทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การบริการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป
  • K-Shape (ขาลง) ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจบริการ ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ “ยังไม่ฟื้นและตกต่ำต่อเนื่อง” จนกว่าโรคโควิด-19 จะหมดไป ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม

ธุรกิจและแรงงาน K (ขาลง) ต้องปรับตัวอย่างไร

เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการอยู่ในธุรกิจแนวโน้มฟื้นตัวแบบ K(ขาลง) พบว่า มีผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าวจำนวนรวม 4.7 แสนราย หรือคิดเป็น 15% ของจำนวนผู้ประกอบการ 3 ล้านราย มีการจ้างงานรวม 2 ล้านคน คิดเป็น 13% ของการจ้างงานในภาคธุรกิจ 15.78 ล้านคน

 

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวและได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ โดยแนวทางในการปรับตัวที่สามารถดำเนินการได้ แบ่งออก 3 ส่วน ดังนี้

 

1.การปรับตัวของผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งความเสี่ยงของธุรกิจคือ ที่ตั้งสถานบริการมีโอกาสติดเชื้อและเกิดการระบาดของโรคได้ ดังนั้น เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์แล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางการเข้าใช้บริการตามมาตรการปลอดภัย (Covid Free Setting) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด และให้เปิดกิจการ จัดกิจกรรมได้อย่างปลอดภัยได้แก่

1) ทำความสะอาดทันทีทั้งก่อนและหลังการให้บริการ โดยทำความสะอาดทุกพื้นที่ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง

2) นำพนักงานทั้งหมดเข้าฉีดวัคซีน และจัดหา Antigen Test Kit (ATK) เพื่อตรวจให้พนักงานทุก 7 วัน  

3) จัดทำระบบการเข้ารับบริการและจัดพื้นที่เข้าใช้บริการไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป 

4) คัดกรองผู้เข้าใช้บริการโดยต้องผ่านการฉีดวัคซีนครบโดสหรือเป็นผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือนและรักษาหายแล้ว เพราะเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกัน มาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยจากการติดเชื้อในสถานประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้

 

2. การปรับตัวของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องรักษามาตรฐาน Covid Free Setting อันเป็นแนวทางที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการติดเชื้อของผู้ใช้บริการและตัวลูกจ้างเอง

 

สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 หากพอมีทักษะและมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ก็ให้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อหางานใหม่ เช่น หากเดิมประกอบอาชีพเป็นไกด์ท่องเที่ยว ทำงานโรงแรม ซึ่งมีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศที่ดี ให้พิจารณาพัฒนาเสริมความรู้ด้านทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ แล้วสมัครเข้าไปทำงานด้านเอกสารหรือเป็นล่ามที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ซึ่งแรงงานด้านภาษายังขาดแคลนอยู่

 

สำหรับแรงงานที่ประสงค์กลับภูมิลำเนาไปทำเกษตรกรรมก็ให้หาความรู้เพิ่มเติมต่อยอดจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มุ่งเน้นการทำเกษตรที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น

 

3. ภาครัฐสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างได้

1) ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้านต้นทุนการทำ Covid Free Setting เช่น ช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่าย Antigen Test Kit (ATK) จัดศูนย์ตรวจใกล้สถานประกอบการ และพัฒนาแอปพลิเคชัน“หมอพร้อม” ที่สามารถระบุว่าผู้เข้าใช้บริการมีประวัติการฉีดวัคซีนหรือเป็นผู้เคยติดเชื้อโควิดและหายแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบประวัติเบื้องต้นก่อนให้บริการได้

 

2)ช่วยเหลือลูกจ้าง สามารถทำได้โดยให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนด้านการศึกษา ร่วมกันจัดทำหลักสูตรอบรมสำหรับแรงงานที่พร้อมจะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ยังขาดแคลนอยู่ รวมถึงจัดหาตลาดแรงงานที่ขาดแคลนให้ สำหรับแรงงานที่กลับไปทำเกษตรกรรมที่ภูมิลำเนา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สามารถร่วมมือกันจัดอบรมให้ความรู้เรื่อง “การเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าในสินค้าเกษตรในแต่ละพื้นที่” รวมถึงช่วยแนะนำวิธีการหาตลาดใหม่ ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภค เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

 

การปรับตัวของผู้ประกอบการและลูกจ้างรวมถึงการช่วยเหลือของภาครัฐนี้ จะสามารถช่วยประคับประคองให้ผู้ได้รับความเดือนร้อนที่อยู่ในธุรกิจแนวโน้ม K (ขาลง) เพื่อรอวันกลับมาดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง หลังโรคโควิด-19 จากไป