อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.95 บาท/ดอลลาร์

15 ก.ย. 2564 | 00:36 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 18:43 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านที่ระดับ 33บาทต่อดอลลาร์จากปัจจัยเสี่ยงในประเทศทั้งสถานการณ์โควิดข19และอาจเจอระบาดระลอกใหม่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.93 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ จากปัจจัยความเสี่ยงในประเทศ ทั้งสถานการณ์การระบาดในประเทศที่อาจเจอการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มลดสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นที่เคยเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทผ่านบอนด์ระยะสั้น ก็เริ่มปิดสถานะเก็งกำไรดังกล่าวมากขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงจะยังช่วยหนุนโมเมนตัมเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้ เรามองว่า ยังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าอย่างชัดเจนได้ในระยะสั้น จนกว่า ตลาดจะคลายกังวลความเสี่ยงต่างๆ และเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะเห็นเงินดอลลาร์สามารถกลับมาอ่อนค่าลงได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.05 บาท/ดอลลาร์

 

แม้ว่า ตลาดจะเริ่มคลายกังวลโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบปรับลดคิวอี หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นเพียง +0.3% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (คิดเป็น +5.3% จากปีก่อนหน้า) จากการปรับลดลงของราคาสินค้าและบริการในธีม Reopening อาทิ รถมือสอง ที่พักแรม และประกันรถยนต์ สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจถึงจุดพีคไปแล้วและเริ่มชะลอลง

 

อย่างไรก็ดี ตลาดก็ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผู้ในเล่นตลาดกลับยังคงกังวลปัญหาการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับผลสำรวจบรรดานักลงทุนสถาบันโดย Bank of America ล่าสุด ที่พบว่า ความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจและผลกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้น

ภาวะระมัดระวังตัวของตลาดจากความกังวลดังกล่าว ได้กดดันให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลดลงราว -0.78% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.57% ส่วนหุ้นเทคฯ ก็เผชิญแรงเทขายทำกำไรมากขึ้นเช่นกัน กดดันให้ ดัชนี Nasdaq ย่อตัวลง -0.45% ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 สามารถปิดตลาด +0.05% หนุนโดยการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML +2.5%, Infineon Tech. +2.2% ชณะที่หุ้นกลุ่มธนาคาร และกลุ่ม Cyclical อื่นๆ ก็เผชิญแรงเทขายทำกำไรออกมาบ้าง

 

นฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่ได้ส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีที่ชัดเจนในการประชุมเดือนกันยายนนี้ หลังเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่อง 4bps สู่ระดับ 1.28% ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลงได้อีกบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก รวมถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพิ่มความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา แต่โดยรวมเงินดอลลาร์ยังทรงตัวใกล้ระดับเดิมเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 92.66 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในข่วงตลาดการเงินผันผวน

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน โดยตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ถึงจุดพีคในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงหนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะโตเพียง +7%y/y จาก +8.5% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัวเหลือ +5.8%y/y ลดลงจาก +6.4%

สอดคล้องกับการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตที่สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) จะขยายตัวเพียง +11%y/y ลดลงจาก +12.7% ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังการระบาดสงบลง

 

ส่วนในฝั่งอังกฤษ บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Tightening Policy) หลังเศรษฐกิจเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องและไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากนัก ซึ่งสะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนสิงหาคม ที่จะโตกว่า +0.8% จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็น +2.7%y/y

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคม ก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า +2.9%y/y ซึ่งจากภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีและเงินเฟ้อในระดับสูง อาจทำให้ BOE เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องได้ในการประชุมวันที่ 23 กันยายน นี้

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.91-32.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดการเงินฝั่งเอเชียมีบรรยากาศที่ระมัดระวังมากขึ้นหลังข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนส.ค. มีสัญญาณชะลอตัวและอ่อนแอลง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดของไทย และการตอบรับต่อข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ คืนนี้ ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าและส่งออก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. และผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กเดือนก.ย.