รื้อ “ภาษีบุหรี่” หลังทำรายได้หด บุหรี่เถื่อนทะลัก

20 ก.ย. 2564 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 15:09 น.

คลังจ่อชงโครงสร้าง “ภาษีบุหรี่ใหม่” เริ่มบังคับใช้ 1 ต.ค.นี้ หลังโครงสร้างปัจจุบัน ใช้มา 4 ปี ทำรายได้หด ชาวไร่ตกงาน บุหรี่เถื่อนทะลัก

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือ โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้เปิดเผยกับทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ ว่า หลักการพิจารณาโครงสร้างภาษีใหม่ จะประกอบด้วย 4 ด้าน คือ การดูแลเกษตรกร สุขภาพของประชาชน การปราบปรามบุหรี่เถื่อน และการจัดเก็บรายได้ ซึ่งโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะเป็นอัตราใดนั้น ต้องรอมติจากที่ประชุม ครม. แต่ยืนยันว่าจะไม่ทำให้รายได้ของกรมต่ำกว่าปัจจุบันที่มีรายได้จากภาษีบุหรี่อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท/ปี แน่นอน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่อัตราภาษีใหม่จะถูกลง

 

สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ปัจจุบัน ใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นแบบ 2 อัตรา คือ มีการเก็บตามปริมาณที่มวนละ 1.20 บาท บวกกับตามมูลค่า 20% สำหรับบุหรี่ที่ราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง และ 40% สำหรับบุหรี่ที่ราคาขายปลีกที่ราคาเกิน 60 บาทต่อซอง โดยหลักการพิจารณาขณะนั้น เป็นการเก็บภาษีตามความฟุ่มเฟือยและตามราคาจำหน่าย ซึ่งจะทำให้สินค้าที่มีราคาขายแพงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าสินค้าราคาถูก รวมถึงเก็บตามปริมาณที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ผลที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปี พบว่า นอกจากจะไม่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังพบว่า มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก เพราะมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในไทย 2-3 เท่าตัว ขณะเดียวกันบางกลุ่มหันไปสูบยาเส้น ทำให้ความต้องการยาเส้นเพิ่มขึ้น จาก12,000 ล้านมวนในปี 2559 เป็น 34,000 ล้านมวนในปี 2563

 

โรงงานยาสูบ มียอดขายลดลง สะท้อนจากรายได้ ในปี 2559 ที่มีรายได้อยู่ที่ 65,238 บาท เมื่อหักหักภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนต่างๆ แล้วพบว่ามีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,861 ล้านบาท แต่หลังประกาศใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่ 2 อัตรา พบว่าผลประกอบการและกำไรปรับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขผลประกอบการในปี 2563 อยู่ที่ 45,897 ล้านบาท เมื่อหักภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนต่างๆ แล้ว เหลือกำไรสุทธิอยู่ที่ 593 ล้านบาท จากผลพวงดังกล่าวทำให้โรงงานยาสูบปรับลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรลงจากเดิม 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหลือ 13 ล้านกิโลกรัมต่อปี ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรหายไปประมาณ 50%

ขณะที่ข้อมูลรายได้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิต ก็ลดลงเช่นกัน โดยในปีงบประมาณ 2563 มีรายได้อยู่ที่ 62,905 ล้านบาท ลดลงจากที่ปี 2562 ที่มีรายได้อยู่ที่ 67,410 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 มีรายได้จัดเก็บอยู่ที่ 68,548 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงงานยาสูบมีกำไรอยู่ที่ 67 สตางค์ต่อซอง ซึ่งก่อนที่จะใช้ภาษี 2 อัตรา มีกำไรอยู่ที่ 7 บาทต่อซอง หากมีการปรับใช้อัตราภาษีเดียว หรือ อัตรา 40% โรงงานยาสูบจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่สามารถแข่งกับบุหรี่นำเข้าได้ เพราะบุหรี่นำเข้าแม้จะขาดทุน หรือ มีกำไรลดลง แต่ยังสามารถนำกำไรที่ได้จากการขายในประเทศอื่นๆ มาชดเชยได้

 

ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ในการพิจารณาโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ที่จะต้องสร้างความสมดุลใน  4 ด้านหลักดังที่กล่าวในข้างต้นให้ได้ เพราะหากบุหรี่ในประเทศถูกลง อาจลดการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน และส่งผลดีต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษี แต่อาจไม่ช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ลง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด-19 ด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ในครั้งนี้ด้วย