ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,299.99 จุด ลดลง 569.38 จุด หรือ -1.63% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,352.63 จุด ลดลง 90.48 จุด หรือ -2.04% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,546.68 จุด ลดลง 423.29 จุด หรือ -2.83%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนัก หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งทะลุ 1.54% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อหุ้นที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
สาเหตุที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ มาจากความวิตกเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ รวมทั้งการที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดถึง 1 ปี
ทั้งนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดร่วงลง นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนักถึง 2.98%
ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้น 0.46% และเป็นหุ้นเพียงกลุ่มเดียวที่ปิดในแดนบวก โดยหุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ เพิ่มขึ้น 1.63% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน เพิ่มขึ้น 1.13% หุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 1.05% หุ้นเชฟรอน เพิ่มขึ้น 0.38%
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้ว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้ ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 4% ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวและการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ หลังมีรายงานว่า วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันได้ขัดขวางร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐต้องปิดการดำเนินงานในสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากขาดงบประมาณ และรัฐบาลสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 109.3 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 115.2 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 114.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564 (ประมาณการครั้งสุดท้าย), รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค.
ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน