ไทยพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยภัยน้ำท่วม พักชำระหนี้-เพิ่มวงเงินหมุนเวียน

02 ต.ค. 2564 | 22:05 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 16:20 น.

ไทยพาณิชย์ ออก 5 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ประสบอุทกภัย จากพายุโซนร้อน“เตี้ยนหมู่” เปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ต.ค. 64

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนและสถานประกอบกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อน“เตี้ยนหมู่

ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB)  จึงได้ออกมาตรการพิเศษช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อน“เตี้ยนหมู่”ทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแบ่งเบาภาระในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน ผ่าน 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

  • 1.พักชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดนาน 6 เดือน
  • 2.พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน
  • 3.ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (คิดอัตราดอกเบี้ยปกติ) สำหรับการผิดนัดชำระไม่เกิน 30
  • 4.เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20 %ของวงเงิน Working Capital เดิมและไม่เกิน 10 ล้านบาท
  • 5.วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี

นอกจากนี้ ในส่วนของลูกค้าสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย มีการช่วยเหลือด้วยมาตรการปรับลดอัตราผ่อนชำระต่องวด และ/หรือขยายเวลาผ่อนชำระยาวขึ้น

พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ เอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีความห่วงใยลูกค้าและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรง คือ สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและทรัพย์สินของกิจการได้รับความเสียหาย และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ สถานประกอบการตั้งอยู่นอกพื้นที่ แต่มีคู่ค้าอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้าไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ 

“ธนาคารฯยังคงติดตามประเมินผลกระทบในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความรุนแรงและขยายวงกว้าง ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยมาตรการเพิ่มเติมต่อไป เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดี และเดินหน้าธุรกิจต่อได้อย่างราบรื่นและเติบโตต่อไป” นางพิกุล กล่าว

ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อรับขอมาตรการช่วยเหลือ ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนขอรับมาตรการช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564