นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าแม้ บจ.ไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายท่ามกลางผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของวิกฤต COVID-19 แต่ บจ.ไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างดี โดยเฉพาะการนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาบริหารจัดการธุรกิจ มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี มีการปรับตัวและสร้างโอกาสในการแข่งขันผ่านนวัตกรรมทางธุรกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญในการดูแลผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนชุมชนและสังคม ซึ่งในปีนี้มี บจ. ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) รวม 146 บจ. เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 124 บจ.
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนตามวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” จึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานตามหลักบรรษัทภิบาลและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน พร้อมส่งเสริมให้ผู้ลงทุนลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างโอกาสการได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ทำให้ปัจจุบันผู้ลงทุนไทยมีความต้องการลงทุนในหุ้นที่มี ESG เพิ่มสูงขึ้น ณ เดือนสิงหาคม 2564 กองทุน ESG Fund ในประเทศไทยมีถึง 58 กองทุน สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) รวมประมาณ 57,496 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 96% จากต้นปี ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและเปิดเผยข้อมูล ESG ให้ผู้ลงทุนรับทราบมากขึ้น” นายภากร กล่าว
สำหรับปี 2564 บจ.ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI แสดงให้เห็นถึงการมีแนวทางบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ครอบคลุมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างชัดเจน โดยนำปัจจัย New Normal เช่น ประเด็น Digital Transformation และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) เพื่อปรับตัวและตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและรักษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน (Operational Efficiency) รวมถึงการช่วยเหลือสังคม ผู้มีส่วนได้เสียทั้งลูกค้าและคู่ค้า เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ไปด้วยกัน บจ. ยังมีพัฒนาการโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณและเปิดเผยข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI 146 บริษัท เป็น บจ. ใน SET 134 บจ. และ mai 12 บจ. ประกอบด้วย บจ. สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมสามลำดับแรก ได้แก่ บจ. ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมากที่สุด 25 บริษัท กลุ่มบริการ 24 บริษัท และกลุ่มทรัพยากร 23 บริษัท โดย บจ. ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 12.48 ล้านล้านบาท ณ 30 กันยายน 2564 หรือคิดเป็น 66% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai
ทั้งนี้ รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI คัดเลือกจาก บจ. ที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดทั่วไป 17 หมวด ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ (รวมบรรษัทภิบาล) สังคม และสิ่งแวดล้อม และตัวชี้วัดตามลักษณะของธุรกิจในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมรวม 12 หมวด เช่น ความเสี่ยงจากการใช้น้ำ ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ การทำธุรกิจทางการเงินหรือประกันภัยอย่างรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมกับชุมชนและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้เข้าถึงดิจิทัล เป็นต้น ตัวชี้วัดเหล่านี้สอดคล้องกับประเด็นที่ผู้ลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจสามารถใช้ศักยภาพเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
บจ. ที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนผ่านร้อยละ 50 ในแต่ละมิติ และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นผู้กลั่นกรองให้มีความโปร่งใสตลอดกระบวนการ ทั้งนี้ รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกดัชนี SETTHSI เพื่อส่งเสริมการลงทุนในหุ้นยั่งยืนที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งดัชนี SETTHSI มีการทบทวนทุกครึ่งปี
ทั้งนี้ สามารถดูรายชื่อหุ้นยั่งยืนได้ที่ www.setsustainability.com