เอเชียประกันภัย ติดกับดัก เคลมสินไหมโควิด-19

17 ต.ค. 2564 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2564 | 12:46 น.

พลิกปูม เอเชียประกันภัย 1950 หลังถูกเพิกถอนใบอนุญาตเหตุบริษัทฯ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย

จากกรณี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมี คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1936/2564 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด(มหาชน)โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคงไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย

 

ที่ผ่านมา บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 ประสบปัญหาจาก ลูกค้าของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อประกันภัยโควิด-19 ได้รับความเดือดร้อนจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยติดต่อขอเคลมค่าสินไหมทดแทน แต่บางส่วนไม่สามารถติดต่อกับบริษัทดังกล่าว   ต่อมายอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนเกิดปรากฎการณ์ลูกค้าเรียกร้องผ่านสื่อ  สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค  และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ให้บริษัทดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว แต่บริษัทดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

ต่อมาคณะกรรมการ คปภ. มีมติเห็นชอบให้ บมจ. เอเชียประกันภัย 1950 หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เนื่องจากพบหลักฐานว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โดยพบว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า

ปูมเอเชียประกันภัย 1950

มาทำความรู้จัก “ เอเชียประกันภัย 1950”  บริษัทฯ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2493 เป็นบริษัทประกันภัยของกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์ด้วยทุนที่ชำระแล้ว 30 ล้านบาท

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2546 กลุ่มผู้ชำนาญการด้านธุรกิจประกันภัยนำโดย นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ได้เข้าถือหุ้นและบริหารงาน เพื่อสร้าง “เอเชียประกันภัย” ให้เป็น บริษัทประกันภัย ที่มีนวัตกรรมใหม่แห่งวงการประกันภัย

 

ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2548-2549 บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) คิดค้นกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์แบบใหม่ แบบแรกในประเทศไทยจนได้เป็น GENERIC NAME ของวงการ ประกันภัย คือ ASIA 3+ ที่สร้างความแปลกใหม่เพิ่มสีสันให้กับวงการประกันภัย และได้รับการยกย่องเป็นบริษัทประกันภัยแนวนวัตกรรมใหม่

 

คลิกชมคลิป ที่นี่

ปี 2550 บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล GOLD AWARD สุดยอดแคมเปญการตลาด MAT AWARD 2007 อันดับหนึ่งจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ประเภทแนวความคิดสร้างสรรค์ทางการตลาดใหม่

 

เปิดศูนย์จำหน่าย ASIA 3+ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS เป็นการให้บริการแบบครบวงจรเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อตอบสนองไลฟสไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการจากผู้บริโภคอย่างแท้จริง

 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 ธนาคาร DEG (KFW) ธนาคารเพื่อการพัฒนาธุรกิจ อันดับหนึ่งจากประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นธนาคารอันดับต้นของสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือพัฒนาธุรกิจประกันภัยของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการขยายกิจการ และเสริมฐานะความมั่นคงทางการเงิน ปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท

 

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 เอเชียประกันภัย 1950 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน “บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)” สู่ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่ และมั่นคง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด

 

ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฯ จับมือเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าระดับประเทศทั้งในและนอกธุรกิจประกันภัย เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆและการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในสังคมปัจจุบันที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทฯก้าวสู่การเป็นผู้นำและเจ้าตลาดด้านการประกันภัยสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นบริษัทฯ เปิดตัวเทคโนโลยีการทำเคลมแบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ A-Serve (Click2Claim) สะดวก รวดเร็ว เลือกรับเงินโอนเข้าบัญชีได้ทันที

 

ในปี 2561 บริษัทฯ ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกมากมาย อาทิเช่น การแจ้งพิกัดการเกิดอุบัติเหตุผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ A-Serve (Click2Call) ติดตามสถานะการเดินทางพนักงานเซอร์เวย์ได้แบบเรียลไทม์, การสำรวจภัยโดยอากาศยานไร้คนขับ (Drone)

 

ในปี 2562 บริษัทฯยกระดับการให้บริการ เพิ่มการบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Asia Roadside Assistance) และการนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและคู่ค้า เช่น การส่งกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ E-Policy การส่งใบเตือนต่ออายุผ่านสมาร์ทโฟน ฯลฯ เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยกระดับความมั่นคงทางการเงินโดยการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มอีก 300 ล้านบาท

 

ในปี 2563 บริษัทฯได้เพิ่มทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้นในปัจจุบันเป็น 650 ล้านบาท เพื่อความมั่นคงที่มากขึ้น  

 

ที่มา: เอเชียประกันภัย 1950