นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์(TIPH) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัยเปิดเวทีแถลงในหัวข้อ “ ยืนยันความมั่นใจกจับมือกับภาครัฐ เพิ่มทางเลือกผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด -19 เอเชียประกันภัย 1950 เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่กระทบความแข็งแกร่งของบมจ.ทิพยฯ" โดยระบุว่า ระหว่างนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกองทุนวินาศภัยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อพิจารณากรณีจะยกเลิกกรมธรรม์และเตรียมคำนวณเบี้ยประกันภัยโควิดเพื่อทำหนังสือแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยของบมจ.เอเชียประกันภัย 1950 ทราบถึงเบี้ยประกันภัยโควิดคงเหลือ จากนั้นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดจึงสามารถนำหนังสือยืนยันเบี้ยประกันภัยคงเหลือแจ้งความประสงค์กับกองทุนประกันวินาศภัยหรือซื้อประกันภัยโควิด โคม่ากับบมจ.ทิพยฯ
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่บมจ.ทิพยฯ เพิ่มทางเลือกให้ผู้เอาประกันนั้น เป็นกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่บริษัทยังให้บริการอยู่ 2แผนคือ 1. แผนที่ให้ความคุ้มครอง 300,000 บาทค่าเบี้ย 300 บาท/ปี และ 2.แผนให้ความคุ้มครองโคม่า 5 แสนบาทค่าเบี้ย 480 บาทต่อปี ฉะนั้นการแปลงกรมธรรม์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการเพิ่มความเสี่ยง หรือภาระ เพียงแต่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือกรมธรรม์ของบมจ.เอเชียฯ โดยไม่กระทบต่อความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินของบมจ. ทิพยฯ
ในหลักการ บมจ.ทิพยฯจะคำนวณระยะเวลาคุ้มครองซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยโควิดโคม่ามีความคุ้มครองอยู่ที่ 3แสนบาท คิดเบี้ยประกันภัย 300บาท/ปี ดังนั้นผู้เอาประกันภัยที่มีเบี้ยส่วนเกิน 300 บาทก็นำแค่ 300บาทมาซื้อประกันภัยของทิพยฯ ส่วนที่เกินสามารถรับเป็นเงินคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยหรือนำส่วนที่เกินนั้นไปแลกซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ(13บริษัท) กรณีที่เบี้ยประกันภัยโควิดเหลือไม่ถึง 300 บาทนั้น จะมีการคำนวณระยะเวลาที่จะได้รับความคุ้มครอง อาจจะเหลือ 9 เดือนหรือ 11 เดือน
อีกมิติคือ การให้ความช่วยเหลือประกันภัยประเภทอื่นๆ ที่ยังคงเหลือความคุ้มครองอยู่นั้น ทางกองทุนประกันวินาศภัยหรือผู้ทำหน้าที่ชำระบัญชีจะคำนวณเบี้ยประกันภัยคงเหลือของกรมธรรม์อื่นๆทั้งหมด เพื่อจะออกเอกสารยืนยันให้กับผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยก็จะมีทางเลือกเช่นนำเอกสารดังกล่าวไปซื้อประกันภัยทุกประเภทกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการโดยจะได้รับส่วนลด10%แต่ไม่เกิน 500บาท หลังจากได้รับส่วนลดดังกล่าวก็จะนำเอกสารชำระแทนเงินสด ถ้ายังไม่เพียงพอต่อค่าเบี้ยฯ ส่วนที่เหลือก็ชำระเป็นเงินสด
ยกตัวอย่าง ถ้ามีเบี้ยประกันภัยคงเหลืออยู่ 10,000บาท กรณีซื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทก. ค่าเบี้ยอยู่ที่ 20,000 บาทจะได้รับส่วนลด10%แต่ไม่เกิน 500บาท ซึ่งค่าเบี้ยหลังส่วนลดจะเหลือ 19,500บาทก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 9,500 บาท
และทางเลือกที่ 2 ของผู้เอาประกัน ถ้าไม่ต้องการซื้อประกันภัยจากบริษัทใดเพิ่มเติม สามารถนำเอกสารคำนวณเบี้ยประกันคงเหลือติดต่อกองทุนประกันวินาศภัยหรือผู้ชำระบัญชีเพื่อขอรับเป็นเงินสด ซึ่งกลไกเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นี้ได้รับการดูแลทั้งหมด
นายสมพรอธิบายถึงเหตุผลของการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ เพราะคำนึงถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของระบบประกันภัยทั้งระบบเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะผู้ถือกรมธรรม์ของเอเซียฯมีจำนวนผู้เอาประกันภัยจำนวนมาก 2.5พันล้านกรมธรรม์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ยังไม่สิ้นสุดความคุ้มครอง จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของธุรกิจประกันภัยที่ต้องเข้ามาเยียวยาแก้ไข ปัญหานี้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของเอเชียฯที่มีกรมธรรม์ ประกันภัยโควิด-19 ถึง 777,000กรมธรรม์ เป็นแบบเจอจ่ายจบซึ่งมีผลบังคับใช้ เพียงแต่บมจ. ทิพยฯ ไม่สามารถรับประกันภัยในเงื่อนไขความคุ้มครองเดียวกับที่บมจ.เอเชียฯ เพราะกรมธรรม์ส่วนใหญ่ของเอเชียประกันภัยเป็นประเภทเจอจ่ายจบ ซึ่งทางบมจ.ทิพยฯ ไม่มีนโยบายรับประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว โดยลูกค้าเอเชียประกันภัยหากย้ายมาประกันโควิดในรูปแบบประกันการเสียชีวิตจากอาการโคม่าทั้งหมด 770,000 หมื่นคน เราก็ยังสามารถรองรับได้ เนื่องจากความคุ้มครองจะดูแลเฉพาะการเสียชีวิตจากอาการโคม่า(เป็น "ภาวะก่อนการเสียชีวิตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์") เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่รองรับประชาชนจุดนี้จึงไม่กระทบต่อบริษัทฯ
ขณะที่เงินกองทุน (คาร์เรโช) ณ ปัจจุบันของทิพยประกันภัย อยู่ที่ 263% ว่า เรายังคงมีสถานะอย่างนี้ไปได้จนถึงสิ้นปี และถ้าสถานการณ์โควิดเกิดมีรอบ 4 ขึ้นมา ก็คิดว่ามันจะไม่กระทบ
ต่อข้อถามถึงแนวโน้มค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดนั้น หากเป็นค่ารักษาพยาบาล โคม่า ค่าชดเชยรายวันจะอยู่ที่ประมาณ 100-120% ส่วนแบบประกันเจอจ่ายจบ ความเสียหายอาจจะสูง 300-400% ซึ่งปัจจุบันมียอดเคลม ประกันแบบ เจอ จ่าย จบ ไปแล้ว 30,000 ล้านบาท โดยคาดว่าอาจถึง 40,000 ล้านบาท เพราะกรมธรรม์แบบ เจอ จ่าย จบ ส่วนใหญ่จะครบอายุประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมปี 2565
" เราจึงยินดีให้ผู้เอาประกันภัยจาก เอเชียฯนำใบยืนยันเบี้ยประกันภัยโควิดคงเหลือจากกรมธรรม์ประกันภัยเดิมมาแลกซื้อประกันภัยโควิคโคม่าของบมจ.ทิพยได้โดยให้ความคุ้มครองที่ 3 แสนบาทค่าเบี้ย 300 บาทต่อปี
ผู้เอาประกันภัยที่ถือกรมธรรม์ประกันภัย โควิดของบมจ.เอเชียฯนั้น แม้จะย้าย/เปลี่ยนมาเป็นกรมธรรม์ประกันภัย โควิดของบมจ.ทิพย์ แต่ความคุ้มครองจะไม่เหมือนเดิม ถ้าย้ายมาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด โคม่าของบมจ.ทิพยฯ จะเป็นความคุ้มครองเฉพาะกรณีโคม่าจากการติดเชื้อจนเกิดภาวะโคม่า และผู้เอาประกันต้องแสดงเจตนาว่าจะเปลี่ยน เพราะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนอัตโนมัติทุกกรมธรรม์”