นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนแหล่งเงินทุน แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กว่า 1.7 แสนราย ซึ่งมีภาคประชาชน 1.3 แสนราย ธุรกิจขนาดเล็ก 34,000 ราย ขนาดกลาง 4,000 ราย และขนาดใหญ่ 2,000 ราย ให้บรรเทาผลกระทบจากระบาดของโควิด และมีเงินทุนสำหรับใช้ลงทุน หรือนำไปพัฒนาปรับเปลี่ยนธุรกิจเพิ่มเติม
“EEC เป็นจุดมุ่งหมายในการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยรัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพ 4 ด้าน ทั้ง สนามบิน ถนน ท่าเรือ และระบบราง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ขณะที่เรื่องของไฟแนนซ์ก็มีความสำคัญ นอกจากการดึงสถาบันการเงินเข้ามาร่วม ยังได้มีการหารือกับตลาดทุนในการเข้ามาระดมทุนใน EEC ด้วย ดังนั้นโครงการ EEC จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลมีความมั่นใจมาก” นายอาคม กล่าว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้จัด 2 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนแหล่งเงินได้ไมต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เช่น บริการ จีเอสบี สมูธ บิส ฟอร์ม อีอีซี เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ให้แก่กลุ่มเป้าหมายนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจผลิต การให้บริการ การพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อีอีซี วงเงินกู้ 1–20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2.99 % ต่อปี ระยะเวลาตามสัญญา 1-10 ปี ดอกเบี้ยคงที่ช่วง 2 ปีแรก
นอกจากนี้ ยังมีบริการสินเชื่อประชาชนสุขใจ สำหรับผู้ประกอบการภายในพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการใช้หนี้นอกระบบ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มค้าขายหรือให้บริการรายย่อย ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่าย วงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ระยะเวลาตามสัญญา 3-10 ปี
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงค์ กล่าวว่า เอ็กซิมแบงก์ ให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น สินเชื่อ เอ็กซิม อีอีซี พลัส โลน วงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนใน อีอีซี หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงานระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เอส-เคิร์ฟ และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. ให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น บริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อ เอ็กซิม บิส ทรานฟอร์เมชัน โลน และบริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชาสุขใจ สำหรับพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ และยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีค่าใช้จ่ายลดลงอีกด้วย โดยปัจจุบัน บสย. มีวงเงินค้ำประกันอยู่เหลือ 40,000 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 7,000 ล้านบาท