thansettakij
KTAM ชวนนักลงทุนวางแผนภาษี โค้งท้ายปี

KTAM ชวนนักลงทุนวางแผนภาษี โค้งท้ายปี

02 พ.ย. 2564 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2564 | 18:21 น.

KTAM แนะลงทุนควบวางแผนจัดการภาษี โค้งท้ายปี 2564 แนะ 3 สิ่งสำคัญต้องรู้ "รายได้ ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน" ชูกองทุนยอดฮิตในการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม (SSF) และเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า เข้าสู่ช่วงโค้งท้ายปี 2564  นักลงทุนควรต้องเริ่มเตรียมตัวและวางแผนการจัดการภาษีเงินได้ประจำปีกันแล้ว โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องรู้รายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาวางแผนอย่างเหมาะสม คือ การลงทุนควบคู่กับการวางแผนจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

ปี 2564 จะมีความพิเศษกว่าปีก่อนๆ เล็กน้อย เพราะปีนี้จะไม่มีกองทุน LTF(Long Term Equity Fund)ให้เลือกเหมือนปีก่อนๆ แต่จะมีทางเลือกใหม่ในการลงทุน คือ กองทุนประเภท SSF (Super Saving Fund)  มาแทนที่ ซึ่งในภาพรวมของการวางแผนจัดการภาษีนั้น การลงทุนผ่านกองทุนยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากสามารถลงทุนได้ในวงเงินที่มากและยังสามารถรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท 

บลจ.กรุงไทย มีปรัชญาและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างวินัยการออม การลงทุนที่ดี และการวางแผนภาษีที่ถูกต้อง เพื่อให้นักลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี เพียงพอที่จะรองรับกับสถานการณ์ไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า นักลงทุนที่มีวินัยที่ดีสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินได้ดีกว่าเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤต

 

สำหรับกองทุนที่ KTAM  แนะนำคือ กองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม (SSF) และเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งกองทุนกลุ่มดังกล่าวมีข้อดีด้านการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก ผ่าน Fund of Funds ภายใต้บริษัทจัดการกองทุน โดยมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) สามารถตอบโจทย์การลงทุนในรูปแบบของการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่นักลงทุนกังวลคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จบหรือยัง? การเปิดประเทศจะก่อให้เกิดการระบาดรอบใหม่ และเศรษฐกิจจะหยุดชะงักอีกหรือไม่? ประเด็นความผันผวนเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อการลงทุนเนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าการลงทุนในช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือยัง ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เช่นนั้น การลงทุนโดยการจัดสรรเงินลงทุนแบบ Asset Allocation ที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจะช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนได้

 

ปัจจุบันกองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม และเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย 4 กลุ่มกองทุนย่อย ที่เน้นการกระจายน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับวัฏจักรเศรษฐกิจระยะยาว โดยผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับการลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยมั่งคั่ง SSF/RMF (KTMUNG SSF/RMF) กองทุนเปิดกรุงไทยมีทรัพย์ SSF/RMF (KTMEE SSF/RMF) กองทุนเปิดกรุงไทยศรีสิริ SSF/RMF (KTSRI SSF/RMF) และ กองทุนเปิดกรงไทยสุขใจ SSF/RMF (KTSUK SSF/RMF) 

 

KTAM ชวนนักลงทุนวางแผนภาษี โค้งท้ายปี

กองทุน SSF (Super Saving Fund) เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และกองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ โดย SSF สามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาลงทุนคือ10 ปีนับจากวันที่ซื้อ

 

ส่วน RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีและไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาลงทุนคือ ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันลงทุนครั้งแรก และถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์

 

นอกจากนี้ กองทุน SSF และ RMF เมื่อรวมจำนวนเงินที่ซื้อกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้วสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กอช. ประกันบำนาญ